Translate

วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐


ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุญหรือกุศล  เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี  เป็นสภาพธรรมที่ชำระจิตให้สะอาด  ขณะที่เป็นบุญ  ขณะนั้นจิตสะอาดจากอกุศล ได้แก่ โลภะ โทสะและโมหะ...บุญหรือสภาพจิตที่ดี ที่เป็นกุศลนั้น มี ๑๐ ประการ เรียกว่า "กิริยาวัตถุ ๑๐"

กิริยาวัตถุ ๑๐ หมายถึง  ที่ตั้งแห่งการกระทำกรรมดี ๑๐ ประการ หรือหมายถึงกุศลจิตที่มีพละกำลังมาก จนสามารถทำให้มีการกระทำ โดยการแสดงออกมาทางกาย ทางวาจาหรือทางใจ  ได้แก่

๑.  ทานมัย            บุญสำเร็จจากการให้วัตถุ  เพื่อสงเคราะห์หรือบูชาแก่ผู้อื่น

๒.  ศีลมัย              บุญสำเร็จจากการงดเว้นจากทุจริต  หรือการประพฤติสุจิตทางกายและทางวาจา

๓.  ภาวนามัย         บุญสำเร็จจากการอบรมจิตให้สงบจากกิเลส หมายถึง สมถภาวนา และการ                             อบรมปัญญาเพื่อละกิเลสทั้งปวง หมายถึง วิปัสสนาภาวนา

๔.  อปจายนมัย      บุญสำเร็จจากการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน

๕.  เวยยาวัจจมัย    บุญสำเร็จจากการขวนขวายบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น

๖.  ปัตติทานมัย      บุญสำเร็จจากการให้ส่วนบุญที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว

๗.  ปัตตานุโมทนามัย     บุุญสำเร็จจากการยินดีในกุศล ที่ผู้อื่นได้กระทำแล้ว

๘.  ธัมมัสสวนมัย     บุญสำเร็จจากการฟังพระสัทธรรม

๙.  ธัมมเทสนามัย    บุญสำเร็จจากการแสดงพระสัทธรรม

๑๐. ทิฏฐุชุกรรม       การกระทำความเห็นให้ตรง  ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง

วิธีปฏิบัติเพื่อเจริญบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ 
ก่อนอื่นต้องเริ่มต้นด้วยความเห็นถูก ขั้นแรกก็คือ การฟังพระธรรมให้เข้าใจถูกต้อง  มีความเห็นตรง  เป็นปัญญาขั้นต้น ละความเห็นผิดทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าปัญญาเจริญยิ่งขึ้น  เป็นปัจจัยให้การกระทำกุศลประการต่าง ๆ  เจริญยิ่งขึ้น

๑.  ทานมัย   บุญสำเร็จจากการให้วัตถุ  เพื่อสงเคราะห์หรือบูชาผู้อื่น....คำว่า "ทาน" คือ การสละสิ่งของหรือวัตถุ เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น เป็นต้น  การสละด้วยเจตนาดี ปรารถนาเพื่อให้ผู้อื่นมีความสุข  แม้ว่าวัตถุนั้นจะไม่มีค่าสำหรับตน แต่ก็เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ขณะนั้นจิตเป็นกุศล เป็นบุญสำเร็จด้วยการให้ ก็เป็น "ทานกุศล"  ส่วนทานที่ให้เพื่อบูชาคุณความดีของผู้อื่น เช่น การให้ของที่เหมาะสมแก่ผู้มีพระคุณ มีคุณธรรม หรือการถวายสิ่งของเครื่องบูชาคุณพระรัตนตรัย ก็เป็นการสละการให้ทาน แต่เป็นการให้เพื่อบูชาคุณความดี..

ในชีวิตประจำวันแต่ละวัน ทุกคนมีการสละการให้สิ่งของ หรือวัตถุเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น อย่างน้อยก็ให้แก่คนในครอบครัว ญาติพี่น้อง คนใกล้ชิดหรือเพื่อนฝูง การให้ทานเป็นการสละความตระหนี่ในใจและสละความติดข้องในทรัพย์สินของตนด้วย  เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาจึงเห็นประโยชน์ของการเจริญกุศลในขั้นต้นนี้ เพื่อเป็นปัจจัยที่จะละคลายกิเลสให้เบาบางลง

นอกจากนั้นยังมีทานอีกอย่างหนึ่งที่กระทำได้ยาก คือ "อภัยทาน"  หมายถึง การสละความผูกโกรธแก่บุคคลผู้ทำให้เราไม่พอใจ...... ขณะให้อภัยทาน จิตขณะนั้นเป็นกุศล  ผู้ได้รับอภัยทานย่อมมีความสบายใจ  นี่ก็เป็นการให้ความสบายใจแก่ผู้อื่น ซึ่งเป็นกุศลที่ควรอบรมเจริญให้เกิดขึ้นมีขึ้น

ส่วน "ธรรมทาน" นั้น เป็นการให้สิ่งที่มีประโยชน์สูงสุดแก่ผู้อื่น  เพราะเหตุว่า "ธรรมะ" เป็นสิ่งเดียวเท่านั้น ที่ทำให้ผู้รับมีความสุขอย่างแท้จริง  ทำให้มีที่พึ่งและพ้นทุกข์ได้จริง ๆ  จะเห็นว่าทานทุกประเภทล้วนมีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน จึงควรอบรมเจริญให้ยิ่งขึ้นตามกำลังปัญญาของตน

๒.  ศีลมัย   บุญสำเร็จจากการงดเว้นจากทุจริต  หรือการประพฤติสุจริตทางกายและทางวาจา....คำว่า "ศีล"  คือ ข้อประพฤติหรือข้อปฏิบัติสุจริต ที่เป็นไปในทางกายหรือทางวาจา  ซึ่งเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน  ดังนั้น เราจึงควรเห็นประโยชน์ของการเป็นผู้มีศีล  คือ มีความประพฤติดีด้วยการไม่เบียดเบียนหรือฆ่าสัตว์  ไม่ลักทรัพย์หรือสิ่งของผู้อื่นที่ไม่ได้ให้  ไม่ล่วงเกินสามีหรือภรรยาผู้อื่น  พูดแต่สิ่งที่เป็นความจริง  งดเว้นการดื่มหรือเสพของมึนเมาทั้งหลาย  ศีลจะสมบูรณ์ได้ก็ด้วยการวิรัติ  หรือการงดเว้นทุจริตทั้งปวง

๓.  ภาวนามัย   บุญสำเร็จจากการอบรมจิตให้สงบจากกิเลส (สมถภาวนา)  และการอบรมปัญญาเพื่อละกิเลสทั้งปวง (วิปัสสนาภาวนา)....คำว่า "ภาวนา"  หมายถึง  การอบรมกุศลธรรมให้มีขึ้น หรืออบรมกุศลธรรมที่มีอยู่แล้วให้เจริญยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญา  จึงควรเริ่มด้วยการฟังธรรมให้เข้าใจ  เมื่อปัญญามีขึ้นเจริญขึ้น  ขณะนั้นจิตสงบจากอกุศล ซึ่งเป็นสมถภาวนา เป็นเพียงแค่ความสงบจากกิเลสเท่านั้น....ส่วนการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น  เป็นหนทางดับกิเลส คือ รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้  ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการฟังพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนเข้าใจก่อน เพื่อเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ตามกำลัง

๔.  อปจายนมัย  บุญสำเร็จจากการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน....ขณะที่มีการอ่อนน้อมถ่อมตน ขณะนั้นจิตเป็นกุศล การรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม ด้วยว่าเป็นผู้มีพระคุณ มีอาวุโสหรือด้วยเหตุว่ามีคุณธรรม  มิใช่ด้วยเหตุอื่น.....การแสดงความอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม เป็นการลดความสำคัญตน (มานะ) และลดความเป็นตัวตน (อัตตา)

๕.  เวยยาวัจจมัย  บุญสำเร็จจากการขวนขวายบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น....การให้ความช่วยเหลือหรือสงเคราะห์ผู้อื่น กระทำได้ด้วยกายหรือวาจา เป็นการสละความเห็นแก่ตัว สละความติดข้องยึดถือในความเป็นตัวตน ให้เบาบางลง.....การสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับประโยชน์สุข โดยไม่เลือกว่าเป็นใคร หรือบุคคลใด ขณะนั้นจิตเป็นกุศล  แม้แต่การช่วยเหลือผู้อื่นเล็ก ๆ น้อย ๆ  ด้วยความปรารถนาให้เขาได้รับประโยชน์สุข ก็เป็นการขัดเกลากิเลสได้เช่นกัน

๖. ปัตติทานมัย  บุญสำเร็จจากการอุทิศ หรือให้ส่วนบุญที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว....เมื่อได้มีการบำเพ็ญกุศลอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว  ควรพิจารณาว่า ยังมีสัตว์บางประเภท  สามารถที่จะรับส่วนบุญ จากการทำกุศลของเราได้  การนึกถึงผู้อื่นเพื่อประโยชน์สุขของเขา จึงอุทิศส่วนกุศลที่เราได้บำเพ็ญแล้ว  ขณะนั้นจิตเป็นกุศล เพราะว่าขณะนั้นคิดถึงผู้อื่น ปรารถนาจะให้ผู้อื่นได้รับส่วนกุศลด้วย  และที่สำคัญคือญาติพี่น้องทั้งหลาย ที่เกิดเป็นเปรต เมื่อได้รับส่วนกุศลที่อุทิศให้  เขาก็สามารถที่จะพ้นจากความทุกข์อันเกิดจากความหิวกระหาย และพ้นจากภพภูมินั้นได้ด้วย

๗.  ปัตตานุโมทนามัย  บุญสำเร็จจากการยินดีในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำแล้ว....เมื่อผู้อื่นได้กระทำกุศลกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด ควรมีความชื่นชมยินดีด้วย  สภาพของจิตในขณะนั้น เป็นกุศลจิต  เพราะความยินดีในความดีเป็นธรรมฝ่ายดี   แม้ไม่ต้องกล่าวคำว่า "อนุโมทนาบุญ"  จิตขณะนั้นก็เป็นกุศล เพราะฉะนั้น  เมื่อมีใครกระทำความดี ก็ควรที่จะยินดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม  เพราะเป็นบุญหรือกุศลประการหนึ่งที่กระทำได้โดยไม่ยากและไม่ต้องลงทุน

๘.  ธัมมัสสวนมัย  บุญสำเร็จจากการฟังพระสัทธรรม....การฟังพระธรรมนั้น  ขณะมีศรัทธาหรือมีความเข้าใจ  จิตขณะนั้นเป็นกุศล  แต่ถ้าขณะนั้นฟังธรรมไม่เข้าใจ เพราะไม่รู้เรื่องเลย จิตขณะนั้นเป็นอกุศล จึงไม่กล่าวว่าเป็นบุญที่เกิดจากการฟังธรรม....การได้ฟังพระธรรมเป็นสิ่งเลิศ เพราะพระธรรมเป็นสิ่งมีค่ามาก  พระสาวกซึ่งหมายถึงผู้ที่ได้สำเร็จบรรลุธรรมขั้นสูงได้  ก็เพราะการฟังพระธรรม  ตัวอย่างเช่น พระสารีบุตรซึ่งมีปัญญามาก ก็ยังต้องฟังพระธรรมจากท่านพระอัสสชิ จนบรรลุธรรม....ปัญญาและความเห็นถูกต้องจะเกิดได้  และจะเจริญขึ้นได้  ก็เพราะว่าอาศัยการฟังพระธรรมเป็นเครื่องเกื้อหนุน ดังนั้นจึงควรเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรมเป็นอย่างยิ่ง

๙.  ธัมมเทสนามัย  บุญสำเร็จจากการแสดงพระสัทธรรม....ขณะที่คิดจะอนุเคราะห์ให้ผู้อื่น ได้เข้าใจพระธรรมที่ถูกต้อง  โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน หรือไม่หวังลาภสักการะใด ๆ จากผู้ฟัง  ขณะนั้นจิตเป็นกุศล  การแสดงธรรมในสาระที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง ย่อมเป็นบุญหรือเป็นกุศลในขณะนั้น

๑๐. ทิฏฐุชุกรรม  การกระทำความเห็นให้ตรงถูกต้องตามความเป็นจริง....คำว่า "ความเห็นตรง" หมายถึง  ความเห็นถูกต้อง ขณะใดมีความเห็นถูก  ปัญญาเกิดรู้ตามความเป็นจริง  ขณะนั้นจิตเป็นกุศลจิต
ความเห็นตรงเป็นปัจจัยทำให้กุศลหรือบุญประการอื่น ๆ  เจริญขึ้นได้  เพราะเหตุว่าความเห็นตรงเป็นธรรมฝ่ายดี

ดังนั้น  การที่จะทำให้บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ เกิดขึ้นและเจริญขึ้นได้  ก็ต้องเริ่มต้นด้วยมีความเห็นถูกเป็นปัจจัย  อยู่ดี ๆ "ความเห็นถูก" จะเกิดเองไม่ได้  จะต้องมีการฟังพระธรรมที่ถูกต้อง เพื่อที่จะละความเห็นผิดทีละเล็กทีละน้อย  ขณะใดมีความเข้าใจในพระธรรม  ขณะนั้นเป็นปัญญา.....การอ่านบุญกิริยาวัตถุทั้ง ๑๐ ประการแล้วเข้าใจ  ขณะนั้นก็เป็นปัญญาเช่นกัน  และปัญญาซึ่งเกิดจากการฟัง การอ่าน  การศึกษาพระธรรมนี้เอง  ก็จะค่อย ๆ น้อมนำจิตให้เห็นคุณประโยชน์ของการเจริญกุศลประการต่าง ๆ และอบรมเจริญให้ยิ่ง ๆ ขึ้น


                                           ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์


                                               ...............................