Translate

วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2556

คำว่า ภูมิ หมายถึง อะไร ?


คำว่า  "ภูมิ"  มี  ๒  ความหมาย

๑.  ภูมิ  หมายถึง  จิตซึ่งเป็นภูมิของสัมปยุตตธรรม  คือ  เจตสิกธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกัน

๒.  ภูมิ  หมายถึง   "โอกาส"  คือ  สถานที่เกิดของสัตวโลก

โลกมนุษย์เป็นภูมิ  คือ  สถานที่เกิดภูมิ๑  ในที่เกิดทั้งหมด  ๓๑  ภูมิ

เมื่อจิตต่างกันเป็นประเภท ๆ  และแต่ละประเภทก็มีความวิจิตรต่างกันมาก  ภูมิซึ่งเป็นที่เกิดของสัตว์โลกก็ต้องต่างกันไป  ไม่ใช่มีแต่มนุสสภูมิ  คือ  โลกนี้โลกเดียว  และแม้แต่ว่าจะเป็นกามวจรกุศล  กำลังของศรัทธา  ปัญญา  และสัมปยุตตธรรม  คือ เจตสิกทั้งหลายที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นก็วิจิตรต่างกันมาก  จึงจำแนกให้ได้รับผล  คือ  เกิดในสุคติภูมิต่าง ๆ  ไม่ใช่แต่ในภูมิมนุษย์เท่านั้น

สำหรับอกุศลกรรมก็เช่นเดียวกัน  ขณะที่ทำอกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น  ถ้าสังเกตจะรู้ความแตกต่างกันของอกุศลกรรม  ว่าหนักเบาด้วยอกุศลธรรมเพียงไร  บางครั้งก็ประกอบด้วยความพยาบาทมาก  บางครั้งก็ไม่ได้ประกอบด้วยความพยาบาทรุนแรง  บางครั้งก็ขาดความเพียร  ไม่ได้มีวิริยะอุตสาหะที่จะทำร้ายเบียดเบียน  แต่เป็นการกระทำซึ่งประกอบด้วยเจตนาเพียงเล็กน้อยและสัตว์เล็ก  ๆ  นั้นก็ตายลง  เมื่อแต่ละกรรมที่ได้กระทำไปนั้น  ประกอบด้วยสัมปยุตตธรรม  คือ  เจตสิกขั้นต่าง ๆ  อกุศลกรรมนั้น  ๆ  ก็เป็นปัจจัยจำแนกให้อกุศลวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิ  คือ  เกิดในอบายภูมิต่าง ๆ  ๔  ภูมิ

เมื่อกุศลกรรมและอกุศลกรรมซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดผลวิจิตรต่าง ๆ  กัน  ภูมิซึ่งเป็นที่เกิดที่เหมาะที่ควรแก่กรรมนั้น ๆ  ก็ย่อมต้องมีมาก  ไม่ได้มีแต่เฉพาะมนุสสภูมิแห่งเดียวเท่านั้น

คำว่า  "ภูมิ"  หมายถึง  โอกาสโลกซึ่งเป็นสถานที่เกิดของสัตว์โลกนั้นมีทั้งหมด ๓๑  ภูมิ  ตามระดับขั้นของจิต  คือ  กามภูมิ ๑๑  ภูมิ  รูปพรหม  ๑๖  ภูมิ  อรูปพรหม ๔  ภูมิ  รวมโอกาสโลกซึ่งเป็นสถานที่เกิดของสัตวโลกทั้งหมดมี ๓๑  ภูมิ  คือ  ๓๑  ระดับขั้น  ซึ่งสถานที่เกิดแต่ละขั้นนั้นมีมากกว่านั้น  คือ  แม้แต่ภูมิของมนุษย์ก็ไม่ได้มีแต่โลกนี้โลกเดียว  ยังมีโลกมนุษย์อื่น ๆ  อีกด้วย


....................................



จาก   หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป
         จิตตสังเขปและภาคผนวก  
         โดย  อ.สุจินต์  บริหารวนเขตต์

วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2556

อังคุลิมาลสูตร


สูตรว่าด้วยพระองคุลิมาล

พระผู้มีพระภาคประทับ  ณ  เชตวนาราม  สมัยนั้น มีโจรชื่อองคุลิมาลอยู่ในแว่นแคว้นโกศล  เที่ยวฆ่ามนุษย์  เอานิ้วมือมาร้อยเป็นมาลัยคล้องร่าง  เช้าวันหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคเสด็จไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถึ  ครั้นเสวยเสร็จ  กลับจากบิณฑบาตก็เสด็จเดินทางไกลไปยังที่ที่องคุลิมาลอยู่  มีคนเลี้ยงโค  เลี้ยงแกะ  และชาวนาวิ่งมาห้ามมิให้เสด็จไป  อ้างว่าโจรองคุลิมาลอยู่ทางนั้น  ก็คงเสด็จต่อไปโดยดุษณีภาพ โจรองคุลิมาลเห็นเข้า  จับอาวุธไล่ตามไปจนสุดกำลัง  ก็ไม่สามารถตามทันได้  จึงกล่าวว่า  "หยุดก่อนสมณะ ! "   พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  "เราหยุดแล้ว  ่ท่านจงหยุดสิ  องคุลิมาล ! "  องคุลิมาลก็ทูลถามว่า  "ทรงดำเนินไป  เหตุไฉนจึงตรัสว่า  หยุดแล้ว"  ตรัสตอบว่า  "เราวางอาชญาในสัตว์ทั้งหลายจึงชื่อว่าหยุด  ส่วนท่านไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลาย  จึงชื่อว่าไม่หยุด"  องคุลิมาลได้คิด  ก็เลื่อมใส  กราบทูลขอบวช  ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ากลับไปกรุงสาวัตถีและพักอยู่ในที่นั้น  (เชตวนาราม)

พระเจ้าปเสนทิเตรียมยกทัพออกปราบโจรองคุลิมาล  เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยไพร่พล เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถาม  ก็กราบทูลว่า  จะไปปราบโจรองคุลิมาล  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า  ถ้าพบโจรองคุลิมาลบวชแล้วตั้งอยู่ในคุณธรรม  จะทรงทำอย่างไร  พระเจ้าปเสนทิกราบทูลว่า  จะอภิวาทต้อนรับ  ถวายปัจจัย ๔  และถวายความคุ้มครองอันเป็นธรรม  พระผู้มีพระภาคจึงชี้ให้ทรงรู้จักภิกษุองคุลิมาล  ซึ่งนั่งอยู่ในที่เฝ้าด้วย  ครั้นทอดพระเนตรเห็น  พระเจ้าปเสนทิทรงตกพระทัยกลัว  จึงตรัสปลอบไม่ให้กลัว  พระเจ้าปเสนทิก็ตรัสปราศรัยกับพระองคุลิมาลเป็นอันดี  และตรัสปวารณาที่จะถวายปัจจัย ๔  แต่พระองคุลิมาลทูลว่า  มีไตรจีวรบริบูรณ์แล้ว  พระเจ้าปเสนทิจึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค  กราบทูลสรรเสริญว่า  พระองค์ไม่สามารถปราบพระองคุลิมาลได้  แม้ด้วยท่อนไม้และศัสตรา  แต่พระผู้มีพระภาคทรงปราบได้  โดยไม่ต้องใช้ท่อนไม้และศัสตรา  แล้วกราบทูลลากลับ

พระองคุลิมาลไปบิณฑบาตพบหญิงมีครรภ์แก่  ก็มีความกรุณา  เมื่อกลับมากราบทูล  พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสอนให้พระองคุลิมาลกล่าวสัจจวาจา  พระองคุลีมาลก็ไปกล่าวสัจจวาจา  ให้พร  ให้มีความสวัสดีทั้งมารดาและทารก  หญิงนั้นก็คลอดทารกโดยสวัสดี

ต่อมาท่านบำเพ็ญเพียรก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์  เมื่อท่านไปบิณฑบาตก็ถูกก้อนดิน  ท่อนไม้  ก้อนกรวดที่เขาขว้างไป  มีศีรษะแตก  มีโลหิตไหล  มีสังฆาฏิขาดวิ่นมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า  พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า  กรรมที่จะให้ผลไปหมกไหม้ในนรกเป็นเวลาหลายหมื่นหลายแสนปี  เป็นอันท่านได้รับผลในปัจจุบัน  พระองคุลิมาลก็หลีกเร้นเข้าไปอยู่่ในถ้ำ  และเปล่งอุทานเป็นธรรมภาษิตในทางส่งเสริมหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา.


...................................




วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สูตรว่าด้วยเจดีย์ คือ พระธรรม


ธัมมเจติยสูตร

พระผู้มีพระภาคประทับ  ณ  เมทฬุปนิคม  แคว้นสักกะ  พระเจ้าปเสนทิโกศลมีพระราชกรณียกิจ  เสด็จไปยังนครนั้นโดยลำดับ  ในการสเด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทรงมอบพระขรรค์และพระอุณหิส  (กรอบพระพักตร)  แก่ทีฆการายนอำมาตย์  แล้วเสด็จดำเนินไปยังวิหารซึ่งปิดประตู  ค่อย ๆ  เข้าไปสู่ระเบียง  ทรงกระแอมแล้วเคาะบานประตู  พระผู้มีพระภาคก็ทรงเปิดประตู  จึงเสด็จเข้าไปสู๋วิหาร  หมอบลงที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า  ทรงจุมพิตพระบาทพระผู้มีพระภาคด้วยพระโอษฐ์  ทรงนวโพื้นฝ่าพระบาทด้วยพระหัตถ์  ประกาศนามของพระองค์  พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า  ทรงเห็นอำนาจประโยชน์อะไรจึงทรงแสดงความเคารพอย่างยิ่งในสรีระนี้

ตรัสตอบสรรเสริญว่า  ๑. ไม่ทรงเห็นพรหมจรรย์อื่นจากพรหมจรรย์นี้  ที่บริสุทธิ์บริบูรณ์เห็นปานนี้  ทรงมีความรู้ด้วยญาณอันประจักษ์ในพระผู้มีพระภาคว่า  พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ดีโดยชอบ  พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว  พระสงฆ์สาวกเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว  ๒. ทรงเห็นภิกษุทั้งหลายพร้อมเพรียงไม่วิวาทกันเข้ากันได้ดี   ๓. ทรงเห็นภิกษุทั้งหลายร่าเริงยินดีมีอินทรีย์แช่มชื่น  คงจะได้บรรลุคุณพิเศษอันโอฬาร   ๔. พระสาวกเตือนกันและกันมิให้ส่งเสียงเอ็ดอึงแม้ไอจาม  ในขณะที่พระผู้มีพระภาคแสดงธรรม  แสดงว่าทรงฝึกหัดบริษัทได้ดี  โดยไม่ต้องให้อาชญาและศัสตรา  ๕.- ๘. ทรงเห็นบัณฑิตผู้เป็นกษัตริย์, พราหมณ์, คฤหบดี, สมณะ  ผู้ปัญหาถามว่า  จะยกวาทะพระสมณโคดม  แต่แล้วก็กลายเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคไป   ๙. ช่างไม้ชื่ออิสิทันตะ  กับ  ปุราณะ ได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดีจากพระเจ้าปเสนทิโกศล  แต่ก้ไม่แสดงความเคารพในพระองค์เท่าในพระพุทธเจ้า  ครั้งนั้นทรงทดลองอยู่ในโรงพักแคบ ๆ  ช่างไม้สองคนทราบว่าพระพุทธเจ้าอยู่ทางไหน  ก็นอนหันศรีษะไปทางนั้น  หันเท้าไปทางพระเจ้าปเสนทิโกศล  ๑๐. ตรัสชี้ให้เห็นว่าพระผู้มีพระภาคและพระองค์ก็เป็นกษัตริย์เหมือนกัน  มีอายุ ๘๐ เหมือนกัน เป็นชาวโกศลเหมือนกัน  เพราะเหตุนี้จึงทรงแสดงความเคารพอย่างยิ่งในพระผู้มีพระภาค

เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จจากไปแล้ว  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภาษิตของพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า  ธัมมเจดีย์  ทรงถือว่ามีประโยชน์และเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์  ทรงสอนให้ภิกษุทั้งหลายเล่าเรียนทรงจำไว้.


...............................

วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สคารวสูตร....สูตรว่าด้วยสคารวมาณพ


พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล  พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่  สมัยนั้น  นางพราหมณีมีนามว่า  ธนัญชานี  อาศัยอยู่ในหมู่บ้านชื่อ  ปัจจลกัปปะ  นางเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  เมื่อพลาดล้ม  ก็เปล่งอุทาน  ๓  ครั้ง ว่า  นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ  สมัยนั้น  สคารวมาณพซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเวททั้งสามได้ฟังว่า  นางพราหมณีธนัญชานี  กล่าวถ้อยคำอย่างนั้น  ก็กล่าวว่า  นางพราหมณีธนัญชานีเป็นผู้ตกต่ำล่มจม  ทั้ง ๆ  ที่มีพราหมณ์ผู้รู้ไตรเวท  ก็ยังกล่าวคุณของสมณะศีรษะโล้น  นางตอบว่า  ถ้าท่านรู้ถึงศีลและปัญญาของพระผู้มีพระภาค  ก็จะไม่สำคัญเห็นว่าพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ควรด่าควรบริภาษเลย  มาณพจึงสั่งว่า  ถ้าสมณะมาหมู่บ้านนี้  ก็พึงบอกแก่ข้าพเจ้า  นางพราหมณีก็รับคำ

ต่อมาเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล  ทรงแวะพัก  ณ  หมู่บ้านชื่อปัจจลกัปปะประทับ  ณ  ป่ามะม่วงของโตเทยยพราหมณ์  นางธนัญชานีพราหมณีจึงไปแจ้งให้สคารวมาพทราบ  สคารวมาณพได้ทราบก็ไปเฝ้าทูลถามว่า  พระโคดมเป็นพวกไหนของสมณพราหมณ์  ที่ปฏิญญาถึงเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ว่าตนรู้แจ้งในปัจจุบัน  อยู่จบพรหมจรรย์  บรรลุถึงความเป็นผู้ถึงฝั่งอย่างสมบูรณ์  พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า  พระองค์ตรัสว่า  สมณพรหมณ์เหล่านั้นมีต่าง  ๆ  กัน  คือที่เป็นพวกฟังสืบ ๆ  กันมาก็มี  เช่น  พวกพรหมณ์ที่รู้วิชา  ๓  (รู้ไตรเวท),  ที่ปฏิญญาถึงเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์  ด้วยเหตุสักว่า  ความเชื่อก็มี  เช่น  พวกนักเดา  นักคิดพิจารณา  ที่รู้แจ้งธรรมด้วยตนเองในธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนก็มี  พระองค์อยู่ในพวกหลังนี้

ครั้นแล้วตรัสเล่าพระดำริตั้งแต่ยังมิได้เสด็จออกบวช  เห็นโทษของการครองเรือน  แล้วเสด็จออกผนวชจนถึงทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา  แล้วทรงเลิกทุกกรกิริยาจนได้บำเพ็ญฌานและได้วิชชา ๓  ใน  ๓  ยามแห่งราตรี  (ข้อความพิสดารเช่นเดียวกับในมหาสัจจกสูตร  หน้า  ๓๙๕, ๓๙๖)

มาณพได้ทูลถามถึงเรื่องเทวดาอีกเล็กน้อย  เมื่อตรัสตอบแล้ว  ก็ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา  แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต


........................................


วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เรื่อง พราหมณ์ผู้กระด้างเพราะถือตัว


สมัยนั้น  พรหมณ์ผู้กระด้างถือตัว  อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี  พราหมณ์นั้นไม่ไหว้มารดา  ไม่ไหว้บิดา  ไม่ไหว้อาจารย์  ไม่ไหว้พี่ชาย

สมัยนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้า อันมีบริษัทใหญ่แวดล้อมทรงแสดงธรรมอยู่

ขณะนั้น  พราหมณ์ผู้กระด้างเพราะถือตัว  คิดว่า  พระสมณโคดมนี้  อันบริษัทใหญ่แวดล้อม ทรงแสดงธรรมอยู่  ถ้าอย่างไรเราพึงเข้าไปหาพระสมณโคดม  ถ้าพระสมณโคดมจักพูดกับเรา  เราก็จักพูดด้วย  ถ้าพระสมณโคดมจักไม่พูดกับเรา  เราก็จักไม่พูดด้วย

ลำดับนั้น  พราหมณ์ผู้กระด้าง  จึงเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาค   ครั้นเข้าไปใกล้แล้ว  จึงยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง  ขณะนั้น  พราหมณ์ผู้กระด้างเพราะถือตัว  คิดว่า  พระสมณโคดมย่อมไม่รู้อะไร  จึงใคร่จะกลับ

ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความคิดของพราหมณ์นั้น  จึงตรัสกะพราหมณ์ด้วยคาถา  (คำกวี)  ว่า

"ดูก่อน  พราหมณ์ !  ความถือตัวมีแก่ใครในโลกนี้   ก็ไม่เป็นของดีเลย  ท่านมาด้วยความต้องการอันใด  ก็พึงกล่าวความต้องการนั้นเถิด"

ลำดับนั้น  พราหมณ์นั้น คิดว่า  พระสมณโคดมย่อมรู้จิตของเรา  จึงหมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า  ณ  ที่่นั้น  แล้วจุมพิตพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยปาก  เอามือนวดพื้นพระบาท  ประกาศนามของตนว่า  "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ !  ข้าพระองค์คือมานถัทธะ  ข้าพระองค์คือมานถัทธะ (ผู้กระด้างถือตัว)"

ลำดับนั้น  ที่ประชุมนั้นก็เกิดความรู้สึกอัศจรรย์ใจว่า  "น่าอัศจรรย์หนอ  เรื่องไม่เคยมี  มามีขึ้น  พราหมณ์ผู้นี้ไม่ไหว้มารดา  ไม่ไหว้บิดา  ไม่ไหว้อาจารย์  ไม่ไหว้พี่ชาย  ก็แต่ว่าพราหมณ์นี้กลับทำความเคารพอย่างยิ่งเห็นปานนี้ในพระสมณโคดม."

ลำดับนั้น  พราหมณ์นั้นนั่งบนอาสนะของตนแล้ว  จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า
"ไม่มีใครทำความถือตัวในใคร ?  ควรมีความเคารพอย่างไร ?  ควรนอบน้อมใคร ?  ควรบูชาอย่างดีต่อใคร ?

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงภาษิตพระคาถาตอบว่า
"ควรมีความเคารพในมารดา  ในบิดา  ในพี่ชาย  ในอาจารย์เป็นที่สี่  ท่านควรนอบน้อมและบูชาอย่างดีในพระอรหันต์  ผู้สงบเย็น  ผู้ทำหน้าที่เสร็จแล้ว  ผู้ไม่มีกิเลสที่ดองสันดาน  ผู้ละมานะได้  ไม่กระด้างเพราะอนุสัยนั้น  เป็นผู้ยอดเยี่ยม."

(พราหมณ์ผู้กระด้างเพราะถือตัว  ก็ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต)
มานถัทธสูตร ๑๕/๒๖๑                                                                                          


.................................

วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เรื่อง ชีเปลือยชื่อปาฏิกบุตร

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเล่าถึงชีเปลือยปาฏิกบุตร ผู้เลิศด้วยลาภ ยศ อาศัยอยู่ในวัชชีคาม  ใกล้กรุงเวสาลี  ชีเปลือยผู้นี้เปล่งวาจาในท่ามกลางบริษัทว่า  พระสมณโคดมเป็นญาณวาทะ (ผู้กล่าวรับรองญาณความรู้)  ตนก็เป็นญาณวาทะ  ควรจะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ด้วยกันได้  พระสมณโคดมมาครึ่งทาง  ตนจะไปครึ่งทาง  พระสมณโคดมแสดงอิทธิปาฏิหาริย์กี่อย่าง  ตนก็จะแสดงเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

 เมื่อสุนักขัตตลิจฉวีมาเล่าให้ฟัง  เราจึงกล่าวชีเปลือยชื่อปาฏิกบุตรไม่ละทิ้งถ้อยคำนั้นความคิดนั้น  ไม่สละความเห็นนั้น  ก็ไม่ควรมาอยู่ต่อหน้าเรา  ถ้าขืนมาศีรษะก็จะแตก  สุนักขัตตลิจฉวีขอให้เรารักษาถ้อยคำที่เราพูดไว้  เราจึงให้สุนักขัตตลิจฉวี ไปบอกแก่ชีเปลือยชื่อปาฏิกบุตร

เช้าวันรุ่งขึ้น  เมื่อกลับจากบิณฑบาตในกรุงเวสาลี  เราจึงเข้าไปพักกลางวันในอารามของชีเปลือยชื่อปาฏิกบุตร  สุนักขัตตลิจฉวีก็รีบเที่ยวไปบอกพวกกษัตริย์ลิจฉวี  รวมทั้งพราหมณ์มหาศาล  คฤหบดีมหาศาล และสมณพรหมณ์  เจ้าลัทธิต่าง ๆ ให้รีบไปดูการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ระหว่างเรากับชีเปลือยชื่อปาฏิกบุตร

เมื่อชีเปลือยชื่อปาฏิกบุตรทราบว่า  มีคนมาประชุมเพื่อจะคอยดู  ก็ตกใจกลัว  จึงเดินทางไปยังอารามของปริพพาชกชื่อติณฑุกขานุ (ตอไม้มะพลับ)  พวกบริษัทก็ไปตาม  พูดขอร้องให้ไปแสดงตัว  ชีเปลือยผู้นั้นก็พูดว่า  จะไป  แต่กระเสือกกระสนอยู่ในที่นั้น ลุกขึ้นไม่ได้  มหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวีไปตาม  เขาก็พูดอย่างนั้น  แต่ลุกขึ้นไม่ได้  ชาลิยะศิษย์ของปริพพาชกผู้ใช้บาตรไม้  จึงไปตามและพูดว่าอย่างเจ็บ ๆ  แต่ก็ไม่สำเร็จ  ชีเปลือยไม่ยอมไปแสดงตัว  เราจึงแสดงธรรมแก่บริษัทที่ไปประชุมนั้น  แล้วกลับที่พัก  และเราได้ถามสุนักขัตตลิจฉวีว่า  ที่เป็นอย่างนี้  ชื่อว่าเราแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แล้วหรือยัง  สุนักขัตตลิจฉววีก็รับว่าแสดงแล้ว.

                                                   
                                  ....................................................

วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ช้างปาริเลยยกะอุปัฎฐากพระศาสดา

พระสุตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑  หน้าที่ ๘๔

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ฝ่ายพระศาสดา  อันช้างนั้นอุปัฏฐากอยู่  ประทับอยู่สำราญแล้ว.  ฝ่ายช้างนั้น ละฝูงเข้าไปสู่ราวป่านั้น เพื่อต้องการความอยู่ผาสุก.  พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวไว้อย่างไร ?  พระธรรมสังคหกาจารย์ กล่าวไว้ว่า  (ครั้งนั้น  ความตริได้มีแก่พระยาช้างนั้นว่า)  "เราอยู่อาเกียรด้วยพวกช้างพลาย ช้างพัง ช้างสะเทิ้นและลูกช้าง  เคี้ยวกินหญ้าที่เขาเด็ดปลายเสียแล้ว.  และเขาคอยเคี้ยวกินกิ่งไม้ที่เราหักลง ๆ  และเราดื่มน้ำที่ขุ่น.  เมื่อเราลงและขึ้นสู่ท่าแล้ว  พวกช้างพังก็เดินเสียดสีกายไป.  ถ้าอย่างไร  เราจะหลีกออกจากหมู่อยู่ตัวเดียว."   ครั้งนั้นแลพระยาช้างนั้น  หลีกออกจากโขลง  เข้าไป ณ บ้านปาริเลยยยกะ ราวป่ารักขิตวัน ควงไม้สาละใหญ่ (และ) ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่แล้ว.  ก็แลครั้นเข้าไปแล้ว  ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า  แลดูอยู่ไม่เห็นวัตถุอะไร ๆ อื่น  จึงกระทึกควงไม้สาละใหญ่ด้วยเท้า ถาก (ให้เรียบ) ถือกิ่งไม้ด้วยงวงกวาด.  ตั้งแต่นั้นมา  พระยาช้างนั้นจับหม้อด้วยงวง ตักน้ำฉันน้ำใช้มาตั้งไว้.  เมื่อทรงพระประสงค์ด้วยน้ำร้อน.  ก็จัดน้ำร้อนถวาย.  พระยาช้างนั้นจัดน้ำร้อนได้อย่างไร ?  พระยาช้างนั้นสีไม้แห้งด้วยงวงให้ไฟเกิด.  ใส่ฟืนให้ไฟลุกขึ้น  เผาศิลาในกองไฟนั้นแล้วกลิ้งศิลาเหล่านั้นไปด้วยท่อนไม้  ทิ้งลงในสะพังน้อยที่ตัวกำหนดหมายไว้.  ดำดับนั้น  หย่อนงวงลงไป  รู้ว่าน้ำร้อนแล้ว.  จึงไปถวายบังคมพระศาสดา.  พระศาสดาตรัสว่า  "ปาริเลยยกะ น้ำเจ้าต้มแล้วหรือ ?"  ดังนี้แล้ว  เสด็จไปสรงในที่นั้น.  ในกาลนั้น   พระยาช้างนั้นนำผลไม้ต่างอย่างมาถวายแด่พระศาสดา.  ก็เมื่อพระศาสดาจะเสด็จเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตร  พระยาช้างนั้นถือบาตรจีวรวางไว้บนตระพอง  ตามเสด็จพระศาสดาไป.  พระศาสดาเสด็จถึงแดนบ้านแล้วรับสั่งว่า  "ปาริเลยยกะ ตั้งแต่ที่นี้ เจ้าไม่อาจไปได้.  เจ้าจงเอาบาตรจีวรของเรามา"  ดังนี้แล้ว  ให้พระยาช้างนั้นเอาบาตรจีวรมาถวายแล้ว  เสด็จเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตร.  ส่วนพระยาช้างานั้นยืนอยู่ที่นั้นเอง  จนกว่าพระศาสดาจะเสด็จออกมา  ในเวลาพระศาสดาเสด็จมา  ทำการต้อนรับบแล้ว ถือบาตรจีวรโดยนัยก่อน (นำไป)  ปลงลง ณ ที่ประทับอยู่แล้ว  ถวายงานพัด้วยกิ่งไม้  แสดงวัตรอยู่.  ในราตรี พระยาช้างนั้นถือท่อนไม้ใหญ่ด้วยงวง  เที่ยวไปในระหว่าง ๆ แห่งราวป่ากว่าอรุณจะขึ้น  เพื่อกันอันตรายอันจะมีแด่เนื้อร้ายด้วยตั้งใจว่า  "จักรักษาพระศาสดา"  ได้ยินว่า ราวป่านั้นชื่อว่ารักขิตวันสัณฑะ  จำดำเดิมแต่กาลนั้นมา.  ครั้นอรุณขึ้นแล้ว.  พระยาช้างนั้น ทำวัตรทั้งปวง  โดยอุบายนั้นนั่นแล  ตั้งต้นแต่การถวายน้ำสรงพระพักตร์.

วานรถวาายรวงน้ำผึ้ง
ในกาลนั้น  วานรตัวหนึ่ง เห็นช้างนั้นลุกขึ้นแล้ว ๆ  ทำอภิสมาจาริกวัตร (คือการปฏิบัติ)  แตด่พระตถาคตเจ้าแล้ว  คิดว่า  "เราก็จักทำอะไร ฟ  ถวายบ้าง"  เที่ยวไปอยู่.  วันหนึ่ง เห็นรวงผึ้งที่กิ่งไม้หาตัวมิได้  หักกิ่งไม้แล้ว นำรวงผึ้งพร้อมทั้งกิ่งไม้ไปสู่สำนักพระศาสดา ได้เด็ดใบตองรองถวาย"  พระศาสดาทรงรับแล้ว.  วานรแลดูอยู่  ด้วยคิดว่า  "พระศาสดาจักทรงทำบริโภคหรือไม่ ?"  เห็นพระศาสดาทรงรับแล้วนั่งเฉยอยู่ คิดว่า  "อะไรหนอแล"  จึงจับปลายกิ่งไม้พลิกพิจารณาดู  เห็นตัวอ่อนแล้ว จึงค่อย ๆ นำตัวอ่อนเหล่านั้นออกเสีย แล้วจึงได้ถวายใหม่.  พระศาสดาทรงบริโภคแล้ว.  วานรนั้นมีใจยินดี  ได้จับกิ่งไม้นั้น ๆ  ยืนฟ้อนอยู่.  ในกาลนั้น กิ่งไม้ที่วานรนั้นจับแล้วก็ดี  กิ่งไม้ที่วานรนั้นเหยียบแล้วก็ดี  หักแล้ว.  วานรนั้นตกลงที่ปลายตออันหนึ่ง  มีตัวอันปลายตอแทงแล้ว มีจิตเลื่อมใส ทำกาลกิริยาแล้ว เกิดในวิมานทองสูง ๓๐ โยชน์  ในภพดาวดึงส์  มีนางอัปสรพันหนึ่งเป็นบริวาร.

                       
                             ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านและขออุทิศกุศลแก่สรรพสัตว์

วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ผ้าที่ย้อมสี



จาก....วัตถูปนสูตร


 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเปรียบจิตที่เศร้าหมองว่า เสมือนผ้าที่เปื้อนสกปรก  ช่างย้อมสีจะนำไปย้อมในน้ำสีใด ๆ  ก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะทำให้กลายเป็นผ้าสีที่ดีได้  เพราะเหตุว่าผ้านั้นมีมลทินจับ  ท่านตรัสว่า เมื่อจิตเศร้าหมอง..... ก็มี "ทุคติ" เป็นที่หวังได้.....ส่วนจิตไม่เศร้าหมองก็ตรงกันข้าม  คือ มี "สุคติ" เป็นอันหวังได้

ผ้าที่สะอาดบริสุทธิ์เปรียบเสมือนผ้าที่บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว  ช่างจะนำไปย้อมสีใด ๆ ก็จะเป็นสีที่ดี สะอาดและบริสุทธิ์  เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่า  อะไรเป็นเหตุให้จิตเศร้าหมอง ?  เครื่องทำให้จิตเศร้าหมองก็คือ "อุปกิเลส"

อุปกิเลสหรือเครื่องทำให้จิตเศร้าหมอง มี ๑๖ ประการ  ได้แก่

๑.โลภะ  ๒. โทสะ  ๓. พยาบาท   ๔. ผูกโกรธ   ๕. ลบหลู่บุญคุณท่าน   ๖. ตีเสมอ   ๗. ริษยา  ๘.ตระหนี่๙. มายา    ๑๐. โอ้อวด    ๑๑. กระด้าง   ๑๒. แข่งดี   ๑๓. ถือตัว   ๑๔.ดูหมิ่น   ๑๕. มัวเมา   ๑๖. ประมาท

เมื่อท่านได้ทราบความจริงของอุปกิเลส ๑๖ ประการนี้แล้ว  พึงเพียรพยายามละอุปกิเลสแต่ละประการเสียได้  เมื่อละได้แล้วก็จะมีความศรัทธาเลื่อมใสมั่นคงในพระรัตนตรัยยิ่งขึ้น  จะได้พบกับความปราโมทย์ เกิดความปีติและความสุขสงบ  มีกายอันสงบระงับ มีจิตตั้งมั่น  ผู้มีศีลมีธรรมเช่นนี้ย่อมไม่มีอันตราย  จึงเป็นผู้เปรียบเสมือนผ้าที่สะอาดบริสุทธิ์หรือทองเงินอันบริสุทธิ์.

                                                  ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน

                                                       ...........................................

วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

รู้รูปตามความเป็นจริง



 ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์นั้น

ในปฏิสนธิขณะ  รูปที่เกิดพร้อมกับอุปาทขณะ  (ขณะเกิด)  เป็นรูปที่เกิดจากกรรม เรียกว่า  กัมมชรูป  พอถึงขณะที่เป็นฐิติขณะ (ขณะตั้งอยู่่) ก็มี กัมมชรูป  เกิดอีก  พอถึงภังคขณะ (ขณะดับ) ก็มี กัมมชรูป เกิดอีก  กลุ่มของรูปในสามขณะนี้  ดับไม่พร้อมกัน  เพราะเหตุว่ารูปที่เป็นสภาวรูป มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ  เพราะฉะนั้น ขณะนี้รูปที่ตัว มีรูปที่ดับพร้อมกันหมดเลยหรือว่ามีรูปที่เกิดแล้วมีอายุ ๑๗ ขณะของจิต แล้วทยอยกันเกิดดับ  จิตที่ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป  นอกจากขณะปฏิสนธิจิตทุกภพชาติ  แล้วก็จุติจิตของพระอรหันต์  และอรูปาวจรวิบากจิตที่เกิดเป็นอรูปพรหมภูมิ

ในชีวิตประจำวัน  มีจิต ๑๐  ประเภทเท่านั้น ที่ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป  คือ ทวิปัญจวิญญาณ  ได้แก่ จิตเห็น
จิตได้ยิน  จิตได้กลิ่น  จิตลิ้มรส  จิตรู้กระทบสัมผัส.....จิตเห็นขณะนี้ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป  นอกจากนั้น จิตอื่น ๆ  เป็นปัจจัยให้เกิดรูปทั้งสิ้น และมีอายุ ๑๗ ขณะแล้วก็ดับไป

นี่ก็คือความละเอียดของสัทธรรมหรืออสัทธรรม  ซึ่งจะทำให้เกิดความเห็นถูกต้อง ที่จะสามารถดับกิเลสได้  หรือว่าไม่สามารถดับกิเลสได้  ถ้าไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้  ก็เพราะเหตุว่า ไม่รู้รูปตามความเป็นจริงที่เกิดทางใดทางหนึ่งใน ๖ ทวาร

ส่วนทางใจนั้น  เรียกว่า  มโนทวารวิถีจิต  จะรู้รูปต่อจากรูปที่รู้ทางตา  หรือรูปที่รู้ทางหู  หรือรูปที่รู้ทางจมูก  หรือรูปที่รู้ทางลิ้น  หรือรูปที่รู้ทางกาย  เมื่อดับไปแล้ว  ไม่ใช่รู้รูปอื่น


                   ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านและขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                                   ...........................................

วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กามาวจรจิต



 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

คำว่า  กามาวจร  เป็นคำรวมของคำว่า  กามะ กับ อะวะจร ภาษาไทยใชคำว่า กาม  หมายถึง สภาพธรรมที่ใคร่หรือพอใจ  ขณะใดที่มีความพอใจหรือความใคร่เกิดขึ้น  ขณะนั้นเป็นกามธาตุ เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง

กามาวจรจิต มี ๕๔ ดวง  คือ  อกุศลจิต ๑๒ ดวง  อเหตุกจิต ๑๘ ดวง (จิตที่ไม่ประกอบด้วย โลภเจตสิก  โทสเจตสิก  โมหเจตสิก  อโลภเจตสิก  อโทสเจตสิก  อโมหเจตสิก) และกามาโสภณจิต ๒๔ ดวง  กามาวจรจิตเป็นจิตขั้นต่ำที่สุด  ทุกท่านไม่พ้นไปจากกามาวจรจิต  และใช่ว่าทุกท่านจะมีกามาวจรจิตครบ ๕๔ ดวง   แม้ว่าจิตของแต่ละท่านในภูมินี้ จะเป็นจิตขั้นกามหรือขั้นกามาวจรจิตก็ตาม

 คำว่า  "กาม"  มีความหมาย ๓ อย่าง คือ

 ๑. กิเลสกาม  ได้แก่  สภาพซึ่งพอใจ ยินดี ติดข้องหรือใคร่  ซึ่งได้แก่ โลภเจตสิก  เมื่อเกิดความยินดีพอใจแล้ว  ก็ต้องมีสิ่งซึ่งเป็นที่พอใจยินดีของโลภะ

๒.  วัตถุกาม  หมายถึง สิ่งซึ่งเป็นที่พอใจยินดีของโลภะ  แต่ไม่ใช่ตัวโลภะ  สิ่งที่โลภะพอใจเป็น "วัตถุกาม"  เพราะเหตุว่า เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีพอใจ  เพราะฉะนั้น จึงมีกิเลสกามและวัตถุกาม

สิ่งที่เป็นที่ยินดีพอใจของโลภะไม่จำกัดเลย  นอกจากนิพพานอย่างเดียว ทั้งหมดเป็นวัตถุกาม เป็นที่ยินดีพอใจของโลภะได้ทั้งสิ้น  พอใจในรูป  พอใจในเสียง  พอใจในกลิ่น  พอใจในรส  พอใจในโผฎฐัพพะ พอใจในขันธ์  พอใจในธาตุ  พอใจในอายตนะ  พอใจในกุศลขั้นต่าง ๆ  พอใจในภพภูมิต่าง ๆ  พอใจในมนุษย์ภูมิ  พอใจในเทวภูมิ  พอใจในพรหมภูมิหรือพอใจในอรูปภูมิ  ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีพอใจ เป็นวัตถุกามได้ทั้งหมด  เพราะฉะนั้น ในสังสารวัฏฏ์ไม่ว่าจะในภพใดภูมิใดทั้งสิ้น ภพภูมิเหล่านั้นย่อมเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีพอใจได้  เว้นนิพพานอย่างเดียว

 ๓. กามอารมณ์  ซึ่งหมายถึง  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฐัพพะ ซึ่งเป็นกามธาตุ  เพราะฉะนั้น จิตซึ่งเป็นกามาวจรจิตก็เพราะเหตุว่า จิตขั้นนี้เป็นธาตุกาม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ว่าเป็นธรรมแต่ละชนิดแต่ประเภท  ซึ่งมีสภาพของตน ๆ  เพราะฉะนั้น  กามาวจรจิต เป็นกามธาตุซึ่งยังไม่สามารถที่จะขึ้นเป็นรูปธาตุ  ซึ่งเป็นจิตที่มั่นคง ซึ่งมีรูปเป็นอารมณ์  และไม่ใช่อรูปธาตุ คือไม่ใช่อรูปาวจรจิต ซึ่งเป็นจิตที่มีความสงบมั่นคงโดยไม่มีรูปเป็นอารมณ์  และไม่ใช่เป็นจิตโลกุตตรจิต

เพราะฉะนั้น จิต ๕๔  ดวง โดยสภาพความเป็นธาตุแล้ว เป็นกามธาตุ  ไม่พ้นไปจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  ถึงแม้ว่าจะเกิดในภูมิอื่นก็ยังมีกามาวจรจิตบางประเภทเกิดได้  เช่น ในรูปพรหมภูมิและอรูปพรหมภูมิ  ถึงแม้ว่าจะอบรมจิตถึงขั้นสงบ  จะมีรูปหรือไม่มีรูปเป็นอารมณ์แล้ว  เกิดเป็นรูปพรหมบุคคลหรืออรูปพรหมบุคคลในพรหมภูมิ ก็ยังมีกามาวจรติบางประเภทเกิด  เพราะเหตุว่า ไม่ใช่รูปาวจรจิตหรืออรูปวจรจิต.


                   ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านและขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                                     ............................................




วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ปฏิบัติเริ่มด้วยความเข้าใจ



 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

เวลานี้มีทางหลงทาง  และทางที่จะไปสู่ความรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ  เป็นของจริง  เป็นอริยมรรคเป็นมรรคมีองค์ ๘   หรือจะใช้ทางสายกลางมัชฌิมาปฏิปทา มีอีกหลายชื่อทีเดียว  แต่ให้ทราบว่าทางจริงที่จะทำให้ทราบสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ที่เกิดดับมี  อันนี้เป็นหนทางจริง ๆ  นอกจากนั้นยังมีทางที่จะหลงด้วย  คือไม่ใช่ทางนี้  คือไปทางอื่นแล้วก็หวัง เพียงหวังว่าจะถึงทางนี้

การที่จะรู้ได้ว่าทางนี้จะเป็นทางจริงหรือเป็นทางหลงได้  ก็คือว่า  ปัญญามีหรือเปล่า  พระอรันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยปัญญา  ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว  ยังไง ๆ ก็เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้แน่ ๆ  หรือพระสาวกตั้งแต่พระโสดาบัน จนถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องมีปัญญา  และถ้าปัญญาขั้นฟังไม่มี  ปัญญาขั้นอื่นจะมีได้ไหม  เป็นเรื่องปัญญาล้วน  ๆ

ใครฟังธรรม  ใครเข้าใจ  เคยเป็นเรา  แต่ให้ทราบว่า ความจริงแล้วเป็นปัญญา  ซึ่งเริ่มเกิดเริ่มเจริญ ที่จะรู้ว่า  สภาพธรรมที่มีจริงนั้น คืออะไรในขณะนี้  นี่เป็นปัญญาขั้นหนึ่ง  เพราะฉะนั้น ที่ใช้คำว่าปฏิบัตินั้น  เข้าใจว่าคนที่ใช้คำนี้ ก่อนนั้นไม่ได้ศึกษาเลย  ไม่ได้ฟังพระธรรมเลยด้วยซ้ำไป  แต่ว่าได้ยินแต่คำว่าปฏบัติ  คนไทยเราใช้คำนี้มาก  พอพูดถึงปฏิบัติก็รู้กันเลยว่า  แปลว่า "ทำ" ไม่ว่าจะทำอะไรทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น พอบอกว่าปฏิบัติธรรม  ก็เลยคิดว่าต้องไปทำอะไรสักอย่างหนึ่ง คงจะต้องไปนั่งขัดสมาธิแล้วก็หลับตา  ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้นเลย  เวลานี้เรากำลังทำอะไรหรือเปล่า  ขณะนี้เรากำลังเห็น  เห็นกำลังทำหน้าที่เห็น  เป็นหน้าที่ของจิต  เวลาเราพูดถึงเรื่องจิต  ดูเหมือนว่าทุกคนเข้าใจแล้ว  แต่พอถามว่า เวลานี้จิตอยู่ที่ไหน  กำลังทำหน้าที่อะไร  ก็ตอบไม่ได้

จริง ๆ แล้วจิตเกิดขึ้นต้องทำกิจการงานทุกขณะ  จิตขณะหนึ่งสั้นมาก  เกิดขึ้นทำกิจแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว  จิตเกิดขึ้นทำกิจเฉพาะหน้าที่นั้น ๆ อย่างรวดเร็ว แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วด้วย  เช่น  ขณะนี้มีจิตเห็นเกิดขึ้นทำกิจเห็นแล้วก็ดับ  ขณะที่ได้ยินก็เป็นจิตเกิดขึ้น ทำหน้าที่ได้ยิน เพราะฉะนั้นจิตเกิดขึ้นทีละขณะมีกิจหน้าที่

 ที่ว่าปฏิบัติ เอาอะไรมาปฏิบัติ  จิตเห็นปฏิบัติอะไรไม่ได้  ได้แต่เห็นอย่างเดียว  จิตได้ยินก็ปฏิบัติอะไรไม่ได้ ได้แต่ได้ยินอย่างเดียว  เพราะฉะนั้น พูดได้ว่า  จิตทุกประเภทเกิดขึ้นปฏิบัติกิจเฉพาะประเภทของจิตนั้น ๆ   เพราะฉะนั้น ปฏิบัติธรรมคืออะไรปฏิบัติ  ต้องมีสภาพธรรม  เช่น จิตเห็นทำหน้าเห็น  จิตได้ยินก็ทำหน้าที่ได้ยิน  ถ้าจะปฏิบัติธรรมก็ต้องรู้ว่าอะไรปฏิบัติ  ถ้าตอบไม่ได้ก็ไม่ใช่ปฏิบัติ  การที่จะไปนั่งหลับตาแล้วอยู่ดี ๆ  เกิดรู้ขึ้นมา  นั่นเป็นไปไม่ได้  เพราะว่าถ้ารู้ก็ต้องรู้ความจริงเดี๋ยวนี้ที่กำลังปรากฏทางตา  ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น  ทางกายและทางใจ  นี่คือปัญญา  เพราะเป็นของจริงที่สามารถรู้ได้  ถ้าบอกไม่ได้ ว่ามีของจริงขณะนี้กำลังปรากฏ นั่นไม่ใช่ปัญญา  เพราะฉะนั้น  การปฏิบัติธรรม ถ้าตอบไม่ได้ว่าอะไรปฏิบัติ ก็ไม่ใช่ปฏิบัติธรรม


                   
         ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านและขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์


                                         .............................................

วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556

ปุถุชนยังกิเลสมากมายให้เกิด



 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย


ชื่อว่าปุถุชน ด้วยอรรถว่า ยังกิเลสมากมายให้เกิด

ข้อความต่อไปมีว่า

อีกอย่างหนึ่ง  ชนนี้เป็น ปุถุ  คือ  เป็นพวกหนึ่ง  เพราะเป็นผู้หยั่งลงภายในแห่งปุถุชน  ก็ชนชั้นชื่อว่า  "ปุถุ"  ด้วยเหตุทั้งหลาย มีการยังกิเลสเป็นต้นมากมาย  คือ  มีประการต่าง ๆ  ให้เกิด เป็นต้น  ดังพระบาลีที่ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร กล่าวไว้ว่า  ชื่อว่า  "ปุถุชน"  ด้วยอรรถว่า  ยังกิเลสมากมายให้เกิด

ยอมรับตามความเป็นจริงว่า มีกิเลสมาก  สำหรับผู้เป็นปุถุชน ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์  ไม่ใช่บุคคล  ไม่ใช่ตัวตน แล้วจะให้กิเลสน้อย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพียงแต่จะไม่รู้เท่านั้นเอง  ว่าเป็นผู้ที่มีกิเลสมาก

                           
                       ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านและขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                               .................................................

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

ขณะประเสริฐที่หาได้ยาก


 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย


การที่ทุกท่านมีโอกาสได้ฟังพระธรรม  จะเข้าใจมากน้อยหรือไม่เข้าใจ ก็ควรที่จะฟังต่อไปเรื่อย ๆ แม้ว่า

ชาตินี้ยังไม่ถึงขั้นรู้แจ้งเป็นพระอริยบุคคล  ชาติหน้าก็ต้องฟังอีก  ถ้าเกิดในประเทศที่สมควร  และมี

โอกาสได้ฟังพระธรรม  ก็ขอท่านจงฟังพระธรรมต่อไป  จนกว่าจะถึงขั้นประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพ

ธรรมตามความเป็นจริง  ซึ่งเป็นขณะที่หาได้ยาก  ถ้าจะพิจารณาดูแต่ละชีวิตในโลก  การที่จะได้ขณะที่

ประเสริฐ  คือ  ขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงอุบัติขึ้น ๑  ขณะที่ได้เกิดขึ้นในปฏิรูปเทส ๑  คือ ในประเทศที่มี

พระพุทธศาสนา    ขณะที่ได้สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูก ๑    ขณะที่อวัยวะทั้ง ๖ ไม่บกพร่อง ๑

...........ท่านใดเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยขณะเหล่านี้  ก็ขอขณะเหล่านี้  จงอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไป

         
           ตามข้อความในปรมัตถทีปนีอรรถกถาขุททกนิกาย ฉักกนิบาต มาลุงกยปุตตเถรคาถาที่ ๕

                         ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านและขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์


                                      ...................................................

วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556

กุศลกรรมและอกุศลกรรมได้แก่เจตนา


 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย


ข้อความในพระอภิธรรมวิภาวินีฏีกา ปริจเฉทที่ ๒  แสดงลักษณะของเจตนาเจตสิก  มีข้อความว่า

สภาพธรรมที่มีชื่อว่า  เจตนา  เพราะอรรถว่า มุ่งหวัง คือจัดสรรให้ธรรมที่สัมปยุตต์กับตน เป็นไปในอารมณ์ หรือ ถึงความขวนขวายในการปรุงแต่งสิ่งที่เป็นสังขตธรรม

ไม่ว่าท่านผู้อ่านจะคิดนึก จงใจ ตั้งใจที่จะกระทำอะไร ไม่ว่าทางกาย หรือทางวาจา  ขณะนั้นให้ทราบว่า
เป็นสภาพของเจตนาเจตสิกที่จงใจ  ตั้งใจ  ขวนขวายในการปรุงแต่งสิ่งที่เป็นสังขตะ  ไม่สามารถปรุงแต่งนิพพานได้  เพราะเหตุว่านิพพานเป็นธรรมที่ไม่เกิด

                         
        ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านและขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                       .......................................................

วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556

หนทางอันประเสริฐ


 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ทุกวันมีเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่น มีลิ้มรส มีกระทบสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึง  เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง  เพราะรู้ได้ด้วยการฟังธรรมด้วยการพิจารณา ก็จะค่อย ๆ เข้าใจขึ้น  ปัญญาสามารถเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ได้  แต่ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น คือ  ถ้าไม่มีการฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ให้เข้าใจ  ว่าคืออะไร  คือเป็นสิ่งที่มีและเกิดขึ้นปรากฏชั่วคราวแล้วก็ดับไป

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา เพื่อที่จะให้แทนที่จะคิดถึงเรื่องอื่น  เพราะเห็นว่าเรื่องอื่นสำคัญที่สุดในชีวิต  แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่เข้าใจว่าสำคัญที่สุดนั้นคือ ปัญญาที่สามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นอะไรสำคัญกว่ากันและอะไรสำคัญที่สุดในชีวิต  เพราะว่าทุกคนอาจจะคิดถึงเรื่องสำคัญมากมายในชีวิต  แต่ก็ผ่านไปโดยไม่กลับมาอีกเลย แล้วก็อย่าลืมว่า ชีวิตแต่ละชีวิตย่อมเป็นไปตามภาวนา  ภาวนาในที่นี้หมายถึงการอบรม จะเห็นว่าอบรมจากอะไร ก็อบรมจากสิ่งที่เห็นทางตา สิ่งที่ได้ยินทางหู  ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและใจ  เพราะฉะนั้นเมื่อได้ยิน ได้ฟังเรื่องสิ่งที่มีจริง ๆ ในเรื่องของความจริงที่มีจริงในขณะนี้  ชีวิตที่จะเป็นไปข้างหน้า ก็ย่อมเป็นไปตามภาวนา คือ การเข้าใจสิ่งที่มีจริง ๆ ในขณะนี้ตามที่ค่อย ๆ เข้าใจขึ้น  มิฉะนั้นชีวิตก็จะเป็นไปตามความไม่รู้ตามความจริงของสิ่งที่ปรากฏ  จึงมีความยึดมั่นเพิ่มขึ้น ๆ  จึงยากที่จะไถ่ถอนหรือดับให้หมดสิ้นไปได้

 แต่ตราบใดที่ยังมีพระธรรม  คำสั่งสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังคงอยู่ ให้ได้ยินให้ได้ฟัง ให้ได้พิจารณาอย่างรอบครอบเพิ่มขึ้น ๆ   ก็จะทำให้เป็นหนทางที่เมื่อมีวาจาสัจจะ ว่าหนทางนี้มีจริง ก็จะเป็นเหตุให้ผู้ฟังเกิดปัญญาญาณสัจจะ และกำลังเจริญมรรคมีองค์ ๘  ซึ่งเป็นหนที่ที่จะทำให้รู้ตามความเป็นจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมไม่ใช่เป็นสิ่งที่พาให้ลำบากหรือพาไปอบายภูมิ  แต่เป็นหนทางที่จะทำให้มีความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น เดินไปตามทางของปัญญาที่ได้เข้าใจแล้ว ตรงตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีและทรงอนุเคราะห์  แม้ว่าจะทรงดับขันธปรินิพพานไปกว่า ๒๕๐๐ กว่าปี แต่พระธรรมที่ทรงแสดงความจริงของเห็น  ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส  กระทบสัมผัส คิดนึก ในขณะนี้ก็ยังมีอยู่ ให้ผู้ที่เห็นประโยชน์และมีศรัทธาในอดีตกาลมาจนบัดนี้  มีโอกาสที่จะได้ไตร่ตรองและเข้าใจ

เพราะฉะนั้น ต้องไม่ขาดการฟังเพื่อที่จะอบรมปัญญา  เพื่อที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ  ทุกคนสามารถที่จะพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง  รู้ยากเห็นได้ยาก  เพราะว่าเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง  แม้แต่จะพูดเรื่องเห็นขณะนี้ ใจก็จะคิดถึงเรื่องอื่น เพราะว่ายังไม่ถึงกาลที่จะเข้าใจจริง ๆ   ถ้าพูดถึงเรื่องเห็นใจก็จะไม่คิดถึงเรื่องอื่น  แต่กำลังเข้าใจเห็นที่กำลังเห็นอยู่ในขณะนี้  กว่าที่จะฟังจนเข้าใจแล้วน้อมเข้ามาในตน  โอปนยิโก ไม่ใช่น้อมไปที่คนอื่น

 ธรรมทั้งหลายที่ได้ยินได้ฟังเป็นสิ่งมีจริง  แต่ไม่รู้ก็ไปยึดว่าเป็นตัวตน  จนกว่าจะเข้าใจขึ้น โลกก็คือขณะหนึ่งซึ่งกำลังปรากฏแต่ละทาง  ขณะที่แข็งกำลังปรากฏไม่มีอย่างอื่นปรากฏเลย  นี่คือสิ่งที่ควรเก็บไว้ในหทัยให้มั่นคง ว่าไม่มีอะไรเลย  ที่ว่ามีก็เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับสืบต่อเร็วสุดที่จะประมาณได้  แต่ขณะใดก็ตามมีแล้วด้วย เช่น ขณะนี้แข็งก็มี เกิดแล้ว เห็นก็มี เกิดแล้ว  สามารถรู้ได้ว่า แต่ละอย่างมีจริงแต่สามารถรู้ได้แต่ละอย่าง ทีละหนึ่งขณะ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย  แล้วก็ดับไป

 เพราะฉะนั้นก่อนที่จะรู้แจ้งนิพพานการดับกิเลสก่อนที่จะเป็นไปได้จริง ๆ  เมื่อปัญญาได้อบรมเจริญแล้ว  ก็คือว่า ค่อย ๆ อบรมความเข้าใจถูก ความเห็นถูก  แล้วก็จะรู้ว่าแม้ฟังมา ก็เป็นความรู้ขั้นปริยัติ  ฟังเพื่อเป็นการสะสมความเห็นถูกว่าเป็นธรรม  ไม่ใช่เรา  แต่ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้เลย ก็เข้าใจแต่ละหนึ่ง ว่าเป็นเราหมดเลย

 เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ตรง  ฟังธรรมเข้าใจธรรมที่กลังปรากฏว่าเป็นธรรมแค่ไหน  แต่ว่าจะไม่พ้นไปจากความจริงเลย เป็นสัจจวาจา เป็นสัจจธรรมที่จริงตลอด เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่มีโอกาสที่จะได้เห็นถูกเข้าใจถูก จากการที่ไม่เคยเข้าใจอย่างนี้เลย ในกาลที่ยังไม่เคยฟังพระธรรม แต่เมื่อฟังแล้วมีสิ่งที่เป็นธรรมจริง ๆ ปรากฏให้เข้าใจได้


              ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านและขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์


                                            ............................................