Translate

วันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ชีวิต คือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย


การเกิด แก่ เจ็บ ตาย และความเศร้าโศกเสียใจ การพลัดพรากจากของรักของชอบใจที่ทุกคนประสบอยู่ในชีวิตประจำวันนั้น  เป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น  ตราบใดที่ยังมีเหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์  มีตัวอย่างใน  ขุททกนิกาย  ฉักกนิบาด  ปัญจสตาปฏาจาราเถรีคาถา  มีข้อความเรื่องหญิงทั้งหลายที่เศร้าโศกเพราะสูญเสียบุตร  หญิงเหล่านั้นได้ไปหาปฏาจาราเถรี  ซึ่งท่านเองก็เคยประสบกับความสูญเสียสามี  บุตร ๒ คน  มารดา  บิดาและพี่ชายในวันเดียวกัน  ท่านเสียสติไปเพราะความโทมนัสอย่างใหญ่หลวง  แต่ตอนหลังกลับได้สติบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน  และภายหลังก็ได้บรรลุอรหัต  ปฏาจาราภิกษุณีแสดงธรรมปลอบโยนหญิงผู้เศร้าโศกเหล่านั้นว่า

                
                     "ท่านไม่รู้ทางของผู้ใดซึ่งมาแล้ว   หรือไปแล้ว
                     แต่ท่านก็ยังร้องไห้ถึงคนนั้นซึ่งมาจากไหน
                     บุตรของเรา  บุตรของเรา
                     ถึงท่านจะรู้จักทางของเขาผู้มาแล้ว  หรือไปแล้ว
                     ก็ไม่ควรเศร้าโศกถึงเขาเลย  เพราะสัตว์ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา
                     เมื่อเขามาจากปรโลก  ใคร ๆ ไม่ได้อ้อนวอนเลย  เขาก็มาแล้ว
                     เมื่อเขาจะไปจากมนุษย์โลก  ใคร ๆ ก็ไม่ได้อนุญาตให้ไป
                     เขามาจากไหนก็ไม่รู้
                     พักอยู่ที่นี้ชั่วระยะเล็กน้อย  แล้วไป  ก็ดี
                     มาจากที่นี้สู่ที่อื่น  ไปจากที่นั้นไปสู่ที่อื่น  ก็ดี
                     เขาละไปแล้วจากรูปมนุษย์  จักท่องเที่ยวไป
                     มาอย่างไรก็ไปอย่างนั้น  การร่ำไห้ในการไปของสัตว์นั้น  จะเป็นประโยชน์อะไร"

เราไม่รู้ว่าใครมาจากภูมิไหนและจะไปสู่ภูมิไหน  ภพชาติในอดีตนั้นไม่อาจที่จะประมาณได้  ดังนั้น  จึงไม่น่าประหลาดใจเลยว่าในอดีตอนันตรชาตินั้น  บุคคลทั้งหลายย่อมเคยมีความสัมพันธ์กันมาแล้วในฐานะต่าง ๆ  เช่น  ในฐานะบิดา มารดา  พี่  น้อง  สามี  ภรรยา  บุตรหลาน  เพราะฉะนั้น เรายังอยากจะวนเวียนไปในสังสารวัฏอันหาที่สุดมิได้เช่นนี้อยู่หรือ.

ขออนุโมทนาในกุศลจิตกับทุกท่าน ณ ที่นี้ด้วยค่ะ


...........................  


                    

วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ความสิ้นไปอย่างรวดเร็วของโลก


ในวิสิทธิมรรค (มรณาสติ) มีข้อความเรื่องความสิ้นไปอย่างรวดเร็วของโลก  ดังนี้ว่า  "...โดยปรมัตถ์  ขณะแห่งชีวิตของปวงสัตว์มีน้อยยิ่งนักฯ  เปรียบดุจล้อรถแม้ที่หมุนอยู่  ก็ย่อมหมุนด้วยส่วน  (แห่งดุม)  อันเดียวเท่านั้น  แม้เมื่อหยุดก็หยุดด้วยส่วน  (แห่งดุม)  อันเดียวเหมือนกันฉันใด  ชีวิตของปวงสัตว์ก็ฉันเดียวกันนั่นแล  เป็นไปเพียงขณะจิตดวงเดียว  เมื่อจิตดวงนั้นพอดับแล้ว  สัตว์ท่านก็เรียกว่าตายแล้ว
เหมือนกันฯ....

ชีวิต  อัตภาพ  และสุข  ทุกข์ทั้งมวล
เกิดกับจิตดวงเดียว  ขณะย่อมล่วงไปพลัน
ขันธ์ของคนที่ตายไป  หรือของคนที่กำลังเป็นอยู่ก็ตาม  ซึ่งดับไปแล้ว
ขันธ์ทั้งหมดก็เป็นเช่นเดียวกัน  คือ  ดับไปโดยไม่กลับมาเกิดอีก
สัตว์ชื่อว่าไม่เกิด  เพราะจิตไม่เกิด
ชื่อว่าเป็นอยู่  เพราะจิตเกิดขึ้นเป็นปัจจุบัน
ชื่อว่าตายแล้ว  เพราะจิตดับ  ดังนี้...."

ที่เราเรียกว่าตายนั้น  ความจริงไม่ได้ต่างอะไรกันเลยกับสภาพที่เป็นไปทุกขณะจิตนี้เอง  ทุกขณะที่จิต
ดับไปก็เป็นการตายของจิต  จิตทุกดวงเกิดขึ้นแล้วก็ดับสิ้นไป  ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดจิตดวงต่อไป  เมื่อจิตดวงสุดท้ายของชาตินี้  คือ  จุติจิตดับไปแล้ว  จิตดวงแรกในชาติต่อไป  คือ  ปฏิสนธิจิตก็เกิดต่อ  ไม่มีตัวตนเลยสักขณะเดียวในชีวิต  ฉะนั้น  จึงไม่มีอัตภาพตัวตนที่ท่องเที่ยวไปจากชาตินี้สู่ชาติหน้า

อวิชชานั่นเองที่ทำให้คิดและกระทำเสมือนดังว่าร่างกายและจิตใจนั้นยั่งยืน  เราติดข้องและยึดมั่นในร่างกายและจิตใจว่าเป็นตัวตน  เราคิดว่าเป็นตัวตนที่เห็น  ได้ยิน  คิดและไปโน่นมานี่  การยึดถือว่าเป็นตัวตนนั้นทำให้เกิดความทุกข์  เราอยากจะประสบแต่อารมณ์ที่น่ายินดีเท่านั้น  และเมื่อประสบกับสภาพธรรมที่ไม่เป็นที่น่ายินดี  เช่น  ชรา  พยาธิและมรณะ  ก็จะเศร้าโศก  คนที่ไม่เข้าใจสภาพธรรม  ก็ไม่เข้าใจพระธรรมที่ว่า  ความทุกข์เกิดจากความรักซึ่งเป็นอริยสัจธรรมที่สอง  เราควรรู้ชัดว่านามธรรมและรูปธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นนั้นไม่เที่ยง  เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา  ไม่ใช่ตัวตน  สัตว์  บุคคล


.....................................