Translate

วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สวัสดีปีใหม่ 2556



                              พรปีใหม่แด่.....ท่านผู้อ่านทุกท่าน
                             
                            Happy  new  Year  2013

                                               


                              โชคลาภยศศักดิ์พร้อม          ยั่งยืน

                              ศิริมงคลทุกวันคืน                 ครอบไว้

                              เลิศชีพยิ่งโลกฟื้น                  สวรรค์ฟาก

                             สุขจิตอิ่มใจไซร้                    สุขภาพพร้อมพูนเกษม

                                            ...............................

วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การจำแนกกรรมโดยกิจ



 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ข้อความในมโนรถปุรณีอรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์  จำแนกกรรมไว้ดังนี้ คือ
ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม อุปปัชชเวทนียกรรม  อปรปริยายเวทนียกรรม

 แสดงถึงการให้ผลของกรรมโดยกาล  ครุกรรม  พหุลกรรม  อาสันนกรรม  กฏัตตาวาปนกรรม  การให้ผลของกรรมโดยลำดับของกรรมที่เป็นกรรมที่มีกำลังมาก หรือกรรมที่ไม่มีกำลัง

การให้ผลของกรรม โดยกระทำกิจมี ๔ คือ
                       ชนกกรรม๑  อุปถัมภกกรรม๑  อุปปีฬกกรรม๑  อุปฆาตกกรรม๑

กรรมที่ได้กระทำไปแล้ว  แล้วแต่จะกระทำกิจใดใน ๔ กิจ.....

ชนกกรรม  คือ  กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น

อุปถัมภกกรรม  คือ เมื่อวิบากอันกรรมอื่นทำให้เกิดแล้ว  อุปถัมภกกรรมย่อมตามสนับสนุนความสุขและความทุกข์ คือ ทำให้การได้รับวิบากที่เป็นสุข  หรือวิบากที่เป็นทุกข์ ยืดยาวและดำรงต่อไปอีก  เพราะเหตุว่า ทั้งกุศลกรรมและอกุศกรรมย่อมเป็นอุปถัมภกกรรม  คือ ทำกิจอุปถัมภ์ได้

อุปปีฬกกรรม  คือ เมื่อวิบากอันกรรมอื่นทำให้เกิดแล้ว  อุปปีฬกกรรมย่อมบีบคั้นเบียดเบียนความสุขความทุกข์  คือ ไม่ให้ความสุขก็ดี หรือความทุกข์ก็ดี ไม่ให้ยืดยาวต่อไป นั่นเป็นกิจของอุปปีฬกกรรม

อุปฆาตกกรรม  คือ  กรรมที่เป็นกุศลหรือกรรมที่เป็นอกุศลนั้น เป็นกรรมที่กำจัดกรรมที่มีกำลังอ่อนอย่างอื่นเสีย  ขัดขวางวิบากของกรรมนั้น  แล้วก็ย่อมจะทำโอกาสแก่่วิบากของตน

เพราะฉะนั้น ถ้าจะจำแนกกรรมโดยกิจ  ไม่มีผู้ใดสามารถรู้ได้โดยประจักษ์แจ้งว่า กรรมที่ได้กระทำแล้วในชาติก่อนและในอดีตอนันตชาติมาแล้ว กรรมใดทำให้ปฏิสนธิจิตในชาตินี้เกิดขึ้น  กรรมนั้นเป็นชนกกรรม

                                                   ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน
                                                   
                                                     ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์





วันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2555

หลีกออกด้วยใจ



 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

การหลีกออกในที่นี้หมายถึงการหลีกออกจากการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา  ไม่ได้หมายถึงการหลีกออกหมู่คน  ปัญญาเท่านั้นที่จะค่อย ๆ หลีกออกจากความเห็นผิด หลีกออกจากความติดข้อง  ถ้ายังหลีกออกจากความเห็นผิดไม่ได้ก็จะหลีกออกจากคนโน้นคนนนี้ไม่ได้เลย

การหลีกออกจากจิตที่เคยเข้าใจว่าเป็นเรา ยังไม่มีความเข้าใจธรรม  ขณะนั้นไม่ต้องไปหลีกไม่ต้องมีตัวตนไปไหนหรือทำอะไรทั้งสิ้น  แต่ปัญญานั่นเองที่จะค่อย ๆ หลีกออกจากความไม่รู้และความติดข้อง  อย่างอื่นไม่สามารถที่จะหลีกออกจากความไม่รู้และความติดข้องได้เลย  พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับ ณ พระวิหารเชตวันไม่ได้ประทับอยู่องค์เดียว  พระองค์ไม่ได้หลีกออกไปไหน แต่หลีกออกด้วยใจ

ถ้าหลีกออกด้วยใจ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะไม่มีความติดข้อง  แต่ถ้ายังติดข้องอยู่  ก็ยังไม่เป็นการหลีกออกด้วยใจ  ไม่ได้หลีกออกจากผู้อื่น  แต่เป็นการหลีกออกจากความเห็นผิด หลีกออกจากการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา  ถ้ายังมีเราก็มีเขา แล้วจะหลีกออกได้อย่างไร  แต่ถ้าหลีกออกจากความยึดถือทั้งหมดที่เป็นเรา ก็จะสามารถรู้ได้ว่า ไม่ว่าใคร ๆ ทั้งนั้น ก็คือธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม มีธาตุรู้ และมีสิ่งที่สามารถกระทบจักขุประสาท ทำให้เกิดรูปร่างสัณฐาน  เวลาที่เห็น  เวลาที่ได้ยิน  เวลาที่พูด ก็คือความคิดของจิตที่มีอยู่ที่มหาภูตรูป และสื่งที่ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่าง ๆ  ที่จำไว้ว่าเป็นคนนั้นคนนี้  แต่ความจริงแล้วคือ แต่ละหนึ่งธาตุซึ่งเกิดดับอยู่ตลอดเวลา แล้วแต่ว่าจะปรากฏทางไหน.


                                                   ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน

                                                     ขออุทศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ชัมพุกเถรคาถาที่ ๕

 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ข้อความในปรมัตถทีปนี อรรถกถาขุททกนิกาย จตุกนิบาต ชัมพุกเถรคาถาที่ ๕  มีว่า

พระเถระแม้นี้ได้ทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าในปางก่อน  ก่อสร้างบุญไว้ในภพนั้น ๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าติสสะ  บังเกิดในเรือนที่มีตระกูล  ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสา  เชื่อพระสัมมาสัมโพธิญาณของพระศาสดา  ไหว้ต้นโพธิพฤกษ์แล้วบูชาด้วยการพัดวี

ด้วยบุญกรรมนั้น  เขาท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษย์โลก ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ  บังเกิดในเรือนมีตระกูล  ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้วบรรพชาในพระศาสนา  เป็นเจ้าอาวาสอยู่ในอารามอันอุบาสกคนหนึ่งได้สร้างไว้  อันอุบาสกนั้นอุปัฎฐากอยู่

ภายหลังวันหนึ่ง  พระขีณาสพเถระรูปหนึ่ง  คือ  พระอรหันต์องค์หนึ่ง  ผู้ครองจีวรเก่า ๆ มาจากป่า  บ่ายหน้าไปยังบ้านเพื่อโกนผม  อุบาสกนั้นเห็นเข้าแล้ว  เลื่อมใสในอิริยาบถ  ให้ช่างกัลบกปลงผมและหนวด  ให้บริโภคโภชนะอันประณีต  ถวายจีวรดี ๆ นิมนต์ให้อยู่ด้วยคำว่า  ขอท่านจงอยู่ในที่นี้แหละขอรับ

ภิกษุเจ้าอาวาสเห็นดังนั้น มีความริษยาและมีความตระหนี่่เป็นปกติ.....นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าจะให้ทานมากมายสักเท่าไรในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ  แต่ถ้ากิเลสยังไม่ดับ ก็ยังมีปัจจัยที่จะทำให้มีความริษยา และมีความตระหนี่เกิดขึ้นได้

ภิกษุเจ้าอาวาสกล่าวกะพระเถระผู้ขีณาสพว่า  การที่ท่านเอานิ้วมือถอนผมเป็นอเจลกะ  เลี้ยงชีพด้วยอาหารคือคูถและมูตร ยังประเสริฐกว่าการอยู่ในที่นี้  ด้วยอาการอย่างนี้ของผู้อันอุบาสกลามกนี้บำรุงอยู่ ดังนี้.....ที่ท่านกล่าวเช่นนั้น ก็เพราะว่าไม่อยากให้พระขีณาสพเถระอยู่ที่นั่น 

เมื่อกล่าวนี้แล้ว  ก็เข้าไปยังวัจจกุฎีในขณะนั้นนั่นเอง  เอามือกอบคูถกินและดื่มมูตรเหมือนคดข้าวปายาสฉะนั้น  ด้วยทำนองนี้ดำรงอยู่ตลอดอายุ  ทำกาละแล้วไหม้อยู่ในนรก  มีคูถและมูตรเป็นอาหารอีก ด้วยเศษแห่งวิบากของกรรมนั้นนั่นแล  แม้เกิดในหมู่มนุษย์ได้เป็นนิครนถ์มีคูถเป็นภักษา ๕๐๐ ชาติ

ด้วยผลของกรรมยังไม่หมด  คือ ในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้  ท่านบังเกิดในกำเนิดมนุษย์อีก  บังเกิดในตระกูลแห่งคนทุกข์ยาก  เพราะกำลังแห่งการว่าร้ายพระอริยเจ้า  เขาให้ดื่มน้ำนม นมสดหรือเนยใส ก็ทิ้งสิ่งนั้นแล้วดื่มเฉพาะน้ำมูตรเท่านั้น  เขาให้บริโภคข้าวสุกก็ทิ้งข้าวสุกนั้น แล้วเคี้ยวกินแต่คูถเท่านั้น  รสดี ๆ ที่อร่อยก็ทิ้งหมด  เพราะกรรมทำให้ไม่สามารถจะบริโภคได้

 เติบโตด้วยการบริโภคคูถและมูตรด้วยอาการอย่างนี้  แม้เจริญวัยแล้วก็บริโภคแต่คูถและมูตรเท่านั้น
พวกมนุษย์เมื่อไม่อาจจะห้ามจากการบริโภคคูถและมูตรนั้น ก็พากันละทิ้งเขาไป  เขาอันพวกญาติละทิ้งเสียแล้ว  จึงบวชเป็นนักบวชเปลือย ไม่อาบน้ำครองผ้าเปื้อนด้วยธุลีและฝุ่น  ถอนผมและหนวด ห้ามอิริยาบถอื่น เดินด้วยเท้าเดียว ไม่ยินดีการนิมนต์  ถือเอาโภชนะที่ผู้ต้องการบุญ  อธิษฐานเข้าอยู่ประจำเดือน  ให้ด้วยปลายหญ้าคาเดือนละครั้ง  กลางวันเลียด้วยปลายลิ้น  ส่วนกลางคืนไม่เคี้ยวกิน ด้วยคิดว่าคูถสดมีตัวสัตว์จึงเคี้ยวกินแต่คูถแห้งเท่านั้น

เมื่อเขาทำอยู่อย่างนี้ล่วงไป ๕๕ ปี  มหาชนสำคัญว่า เป็นผู้มีตบะมาก มีความปรารถนาน้อยอย่างยิ่ง  จึงได้น้อมไปหาเขา โอนไปหาเขา.....แม้กระนั้นก็ยังมีคนเห็นผิดในสมัยนั้น เห็นว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการมักน้อย  เพราะเหตุว่า เขาได้ทำมาเป็นเวลานานถึง ๕๕ ปี  จึงทำให้คนบางกลุ่มมีความโน้มเอียงไปในทางเห็นผิด ไม่มีเหตุผลและ เกิดความเลื่อมใสได้

ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าทอดพระเนตร เห็นธรรมอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตรุ่งเรืองอยู่ในภายในดวงหทัยของเขา เหมือนประทีปในหม้อฉะนั้น  แล้วพระองค์เสด็จไปในที่นั้นแสดงธรรม ให้เขาดำรงอยู่ในโสตาปัตติผล ให้เขาได้อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ให้ขวนขวายวิปัสสนา ให้ดำรงอยู่ในพระอรหัต

เมื่อท่านดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว  ได้ปรินิพพาน......นี่ก็แสดงว่า ท่านได้ปฏิบัติผิดในขั้นต้น ภายหลังได้อาศัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้บรรลุธรรมที่พระสาวกควรบรรลุ  ท่านจึงได้กล่าวคาถานี้ว่า 

เราเอาธุลีและฝุ่นทาตัวอยู่ตลอด ๕๕ ปี  บริโภคอาหารเดือนละครั้ง ถอนผมและหนวด ยืนอยู่ด้วยเท้าข้างเดียว  งดเว้นการนั่ง  กินคูถแห้ง ไม่ยินดีอาหารที่เขาเชื้อเชิญ  เราได้ทำบาปกรรมอันเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติเป็นอันมากเช่นนั้น  ถูกโอฆะพัดไปอยู่  ได้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง  ขอท่านจงดูสรณคมน์และความที่ธรรมเป็นธรรมอันดีเลิศ  วิชชา ๓  เราได้บรรลุแล้ว  เราได้ทำกิจพระพุทธศาสนาเสร็จแล้ว


                                              ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน

                                                ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์














วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อิทธิบาท ๔



 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ว่า  อิทธิบาท คือ ทางแห่งความสำเร็จในสมถภาวนาที่เป็นฌานและวิปัสสนาภาวนาซึ่งรวมถึงมรรคจิตด้วย  แสดงให้เห็นว่า อิทธิบาท หมายถึงความสำเร็จที่เป็นไปในฝ่ายกุศลเท่านั้น

อิทธิบาท ๔  ประกอบด้วย  ฉันทะ  วิริยะ  จิตตะ  วิมังสา

             ฉันทะ  คือ ความพอใจ เป็นเจตสิกธรรมซึ่งเกิดได้ทั้งกุศลจิตและอกุศลจิต   แต่ถ้าเป็นอิทธิบาทแล้วฉันทะที่เกิดกับจิต จะต้องเป็นกุศลเท่านั้น  หมายถึงต้องเป็นไปในสมถภาวนาและวิปัสสนาเท่านั้น

             วิริยะ  คือ  ความเพียร  เป็นเจตสิกธรรมที่เกิดกับกุศลจิตและอกุศสลจิตก็ได้  ถ้าเป็นอิทธิบาทแล้ว  วิริยะหรือความเพียรนั้น จะเกิดกับกุศลจิตเท่านั้น  คือต้องเป็นไปในสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาหรือมรรคจิต

             จิตตะ  คือ จิตที่ประกอบด้วยปัญญา  แสดงว่าต้องเป็นกุศลเท่านั้น  ในระดับขั้นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

             วิมังสา  คือ  ตัวปัญญาที่เป็นปัญญาระดับสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาหรือระดับมรรค

อิทธิบาท  เป็นองค์ธรรมที่เป็นบาทหรือเป็นเครื่องให้ถึงซึ่งความสำเร็จ   คือหมายถึงความสำเร็จในฌานขั้นต่าง ๆ หรือความสำเร็จในการประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรม  ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่าง ๆ  ไม่ใช่หมายถึงความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียน  หรือความสำเร็จในการประกอบกิจการงานอาชีพต่าง ๆ

อิทธิบาท ๔  เป็นธรรมชั้นสูง  เป็นธรรมฝักใฝ่ในการตรัสรู้อริยสัจจธรรม  เพราะเหตุว่า มุ่งหมายถึงการอบรมเจริญปัญญา ที่เป็นไปในฝ่ายกุศลขั้นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

สำหรับความสำเร็จในทางโลกนั้น  ก็ไม่พ้นไปจากความพอใจ  ไม่พ้นไปจากความขยันหมั่นเพียร  แต่ว่าเป็นไปในฝ่ายอกุศล  เพราะเหตุว่า ขณะใดก็ตามที่จิตไม่ได้เป็นไปในทาน  ในศีล  ในความสงบของจิต  ขณะนั้นจิตเป็นอกุศล  ถึงแม้ว่าจะมีฉันทะและวิริยะก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่อิทธิบาท


                                                 ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

                                                      ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์







วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2555

มงคลกิริยา





 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มงคลกิริยา  หมายถึง  การแสดงกิริยาต่าง ๆ  เช่น  การรคำนับ  การไหว้  การต้อนรับ  การแสดงมารยาทที่สมควรต่อผู้อื่น บางท่านอาจจะคิดว่า  การแสดงมงคลกิริยาและการแสดงมารยาท ไม่มีผล  แต่ถ้าพิจารณาดูก็จะเห็นได้ว่า  การแสดงกิริยาต่าง ๆ ทางกายและทางวาจานั้น มีทั้งที่เป็นกุศลและที่เป็นอกุศล

การแสดงการต้อนรับ การคำนับใคร หรือการแสดงมารยาทอันดีงามต่าง ๆ ก็ตาม  ถ้าแสดงด้วยใจจริง จิตขณะนั้นเป็นกุศลจิต  แต่ถ้าการแสดงการต้อนรับหรือคำนับด้วยความไม่จริงใจ หรือไม่แสดงการต้อนรับ หรือไม่มีมงคลกิริยา  ในขณะนั้นก็จะส่องไปถึงสภาพจิตขณะนั้นว่า เป็นลักษณะจิตที่หยาบกระด้าง ขาดความเมตตา เป็นอกุศลจิตในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นมงคลกิริยา คือ การต้อนรับ การคำนับ หรือการไหว้ของบุคคลทั้งหลายในชีวิตประจำวันในสังคมซึ่งมีการแสดงต่อกัน  ก็รู้ว่ามงคลกิริยาทั้งหลายเหล่านั้นมี  และเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลด้วย
เพราะเหตุว่า กุศลจิตและอกุศลจิตเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล  โดยเฉพาะขึ้นอยู่ที่เจตนา (ความตั้งใจ) ที่เป็นกุศลหรือที่เป็นอกุศล  ถ้าเป็นความตั้งใจที่เป็นอกุศล ก็เป็นกรรมที่จะทำให้เกิดอกุศลวิบาก  ในทางตรงข้าม ถ้าเป็นความตั้งใจที่เป็นกุศล  ก็เป็นกรรมที่จะทำให้เกิดกุศลวิบาก


                                                        ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                                             
                                                                 ...................................

วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

จิตอยู่ส่วนไหนของร่างกาย


 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


จิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ ทางตา  ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ  แต่สำหรับเจตสิกนั้นเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต ดับพร้อมกับจิต  รู้อารมณ์เดียวกับจิตด้วย  เช่น  ขณะที่เห็นแล้วมีความพอใจ หรือไม่พอใจ  ความพอใจหรือไม่พอใจนั้น เป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต


จิต มีที่เกิด ๖ ที่  เรียกว่า  "วัตถุ ๖"  เป็นรูป ๖ รูปคือ

- จักขุปสาทรูป  เป็นที่เกิดของ  จักขุวิญญาณ  จิตเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้

โสตปสาทรูป  เป็นที่เกิดของ  โสตวิญญาณ  จิตได้ยินเสียงต่าง ๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้

ฆานปสาทรูปที่กลางจมูก  เป็นที่เกิดของ  ฆานวิญญาณ  จิตที่ได้กลิ่นที่กำลังปรากฏในขณะนี้

- ชิวหาปสาทรูป  เป็นที่เกิดของ  ชิวหาวิญญาณ  จิตที่ลิ้มรสที่กำลังปรากฏในขณะนี้

- กายปสาทรูปที่ซึมซาบอยู่ทั่วร่างกาย  เป็นที่เกิดของ  กายวิญญาณ จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งเย็นบ้าง ร้อนบ้าง  อ่อนบ้าง  หรือแข็งบ้าง ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ และ

หทยวัตถุ  เป็นวัตถุที่ ๖  เป็นที่เกิดของจิตหรือมโนวิญญาณ อยู่ที่กลางหัวใจ



                                                 ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์


                                               ......................................................

วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ผลของอกุศลกรรม




 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ชีวิตในวันหนึ่ง ๆ หนีไม่พ้นผลของกรรมซึ่งได้กระทำแล้ว  จึงทำให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสต่าง ๆ ทางกาย  ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ผลของกรรมใดจะส่งผลเมื่อไรขณะใด......กุศลกรรมและอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วนั้น  เป็นปัจจัยให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส  การรู้กระทบสัมผัสทางกาย

กุศลกรรมและอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว ไม่หายไปไหน เมื่อมีเหตุมีปัจจัยที่จะให้ผลเกิด ผลของกรรมนั้นก็จะเกิดขึ้น โดยไม่มีผู้ใดหลีกเลี่ยงหรือยับยั้งได้เลย  ตลอดจนกระทั่งถึงกาลที่จะปรินิพพาน  เพราะเหตุว่า แม้แต่บุคคลที่ได้สะสมบุญกุศล จนสามารถที่จะบรรลุมรรคผลถึงขั้นเป็นพระอรหันต์ ก็ยังไม่สามารถที่จะหลีกพ้นจากอดีตอกุศลกรรม ที่ได้กระทำไว้แล้ว

จะเห็นได้ว่าชีวิตของแต่ละคน  บางครั้งก็อาจจะมีความทุกข์  ซึ่งเกิดจากผลของอกุศลกรรม เช่น  ได้เห็นสิ่งที่ไม่ดี  ได้ยินเสียงที่ไม่ไพเราะ  ได้กลิ่นที่ไม่ดี  ได้ลิ้มรสที่ไม่อร่อย  ได้กระทบสัมผัสต่าง ๆ ที่ไม่สบายทางกาย......ดังนั้น  ก็ขอให้ทราบว่า  ต้องมีเหตุที่ได้กระทำไว้แล้ว  ตราบใดที่ยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ  อกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว ก็ย่อมจะเป็นเหตุปัจจัยให้อกุศลวิบากจิตเกิดขึ้นได้  ตลอดไปจนกว่าจะถึงกาลที่จะปรินิพพาน โดยไม่มีผู้ใดสามารถที่จะยับยั้งได้


                                                     
                                                          ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์


                                                             ............................................



วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

ประโยชน์ของการศึกษาเรื่องกรรม


 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำหรับประโยชน์ในการรู้เรื่องกรรม  การศึกษาพระธรรม การฟังพระธรรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องจิต เรื่องเจตสิก   เรื่องสติปัฏฐานและเรื่องกรรม ก็ย่อมจะต้องได้ประโยชน์ทั้งสิ้น  เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณาถึงประโยชน์ของการที่จะเข้าใจเรื่องกรรม ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริง ๆ  ก็จะเห็นได้ว่า เมื่อเราได้รู้ว่าขณะใดเป็นอกุศลกรรม ก็จะได้เว้นสิ่งนั้น  และรู้ว่าสิ่งใดเป็นกุศล ก็จะได้เจริญกุศลกรรมยิ่งขึ้น อย่างเจตนาฆ่า เจตนาเบียดเบียน ทั้งหมดนี้เป็นอกุศล ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นบิดามารดาหรือไม่ใช่บิดามารดา ผู้ที่ใกล้ชิด หรือผู้ที่ไม่คุ้นเคยก็ตาม ก็จะทำให้ละเว้นอกุศลกรรมกับทุกบุคคล  แม้ว่าจะเป็นสัตว์ และเป็นอาหารที่ไม่บริโภค เป็นของเหลือแล้วหรือทิ้งแล้ว  แต่ก็มีเจตนาที่เป็นกุศล รู้ว่าขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นกุศลกรรม  ก็ย่อมสามารถที่จะกระทำกุศลกรรมเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการรู้เรื่องกรรมและเข้าใจจริง ๆ ก็จะทำให้อกุศลกรรมลดน้อยลง และกุศลกรรมเจริญขึ้น

นอกจากนั้น ยังเป็นประโยชน์ในการเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะใดเป็นกรรม ซึ่งเป็นเหตุและในขณะใดเป็นวิบากซึ่งเป็นผล  จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่์สัตว์  ไม่ใช่บุคคล  เช่น ในขณะที่กำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด   ก็รู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นผลของกรรม เป็นวิบาก  ขณะใดที่จิตเศร้าหมองไม่ผ่องใส  ขณะนั้นก็รู้ว่าเป็นอกุศลจิต เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง  ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป  แม้สภาพธรรมที่เป็นกุศล ก็ไม่ติดว่าเป็นกุศลของเรา  เพราะเหตุว่ากุศลกรรมก็เป็นเพียงนามธรรมซึ่งเกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป  การที่จะอบรมเจริญปัญญาที่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมดตามความเป็นจริง  ทำให้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

นี่คือประโยชน์ในการที่จะเข้าใจเรื่องของกรรมอะเอียดขึ้น มิฉะนั้นแล้ว ก็ยังเป็นตัวตนอยู่ว่า เป็นกรรมของเรา หรือเราทำกรรม หรือว่าเป็นวิบากของเรา  แต่ว่าตามความจริงแล้ว ไม่มีสภพธรรมใดเลยทั้งสิ้นซึ่งจะพึงยึดถือว่า เป็นของเราได้  บางคนคิดว่าจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้  ขณะนั้นเป็นเราจริง ๆ ที่กำลังคิด  และเมื่อได้รับผลจากความคิดที่จะกระทำสิ่งนั้น  ก็คิดว่าเป็นเราที่ได้รับผลของสิ่งที่เราคิด  แต่เมื่อมีเราคิด ก็ตองมีผลของการกระทำของเราด้วย

เพราะฉะนั้น  ถ้ารู้ว่าไม่ใช่เราที่คิด คิดเป็นชั่วขณะหนึ่ง เห็นเป็นอีกขณะหนึ่ง เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็นจะเป็นผลของขณะที่คิดได้ไหม  ถ้าสติปัฏฐานเกิดจริง ๆ  จะรู้ได้ทีเดียวว่าไม่ใช่  เพระเหตุว่าขณะที่เห็น  ขณะที่ได้ยิน ต้องเป็นวิบาก


                                                     ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์


                                                  ....................................................







วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

กุศลกรรมหรือกุศลวิบาก



 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำหรับทางฝ่ายกุศลกรรม  พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวความสิ้นสุดแห่งกรรม ที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น ก็วิบากนั่นแลย่อมเกิดในปัจจุบัน ในอัตภาพถัดไป หรือในอัตภาพต่อ ๆ ไป

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวการทำที่สุดทุกข์แห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น สมบัติแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร  มีสุขเป็นวิบาก  สมบัติแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง มีความตั้งใจเป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก สมบัติแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก

ทางฝ่ายกุศล ก็ให้ผลตามกาละ คือ อาจจะเป็นในปัจจุบันชาติ หรือในชาติหน้า หรือในชาติต่อ ๆ ไปได้

สำหรับการรับผลของกุศลกรรมและอกุศลกรรม ในกามภูมิ ๑๑ ภูม คือ ในอบายภูมิ ๔ ได้แก่  นรก๑ เดรัจฉาน ๑  เปรต๑  อุสรกาย๑  และในสุคติภูมิ ๗  คือ ใน มนุษย์๑  ในสวรรค์ ๖ ชั้น

ผลของกรรมที่จะได้รับ  บางครั้งอาจจะแม้นเหมือนกับกรรมที่ได้กระทำแล้ว  แต่ว่าบางครั้งก็ไม่แม้นเหมือนกับกรรมที่ได้กระทำแล้ว  เพราะเหตุว่า โลกย่อมเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ สมัยก่อนไม่มีรถยนต์ ไม่มีการขับรถชนคนตาย  แต่ก็มีเจตนาที่จะเบียดเบียน ที่จะประทุษร้าย  แต่วัตถุเครื่องใช้ในแต่ละสมัยย่อมต่างกัน

เพราะฉะนั้นผลของกรรมที่จะได้รับในแต่ละยุค ในแต่ละสมัยย่อมแม้นเหมือนกับกรรมที่ได้กระทำแล้วบ้าง และไม่แม้นเหมือนกับกรรมที่ได้กระทำแล้วบ้าง

อย่างผลของกุศลวิบากในแต่ละประเทศก็ย่อมจะต่างกัน  รสของผลไม้อร่อย ๆ ในเมืองร้อนกับในเมืองหนาวก็ต่างกัน   แต่เมื่อเป็นผลของกุศลวิบาก  ก็ย่อมจะได้รับผลที่น่าพอใจ  แต่ว่าผลที่น่าพอใจจะเป็นรสผลไม้ชนิดใด  ในกาลไหนก็ย่อมแล้วแต่ทวารและอารมณ์ที่จะเกิดขึ้น  ซึ่งเหมาะควรแก่กรรมนั้น ๆ

หรือแม้แต่ในสวรรค์ อารมณ์ทั้งหลายประณีตกว่าในมมนุษย์  แต่ก็เป็นผลของกุศลกรรม  ในมนุษย์ภูมิก็มีอารมณ์ที่ประณีต  เมื่อเป็นผลของกุศลด้วย  แต่ก็จะเห็นได้ว่า ผลของกุศลในมนุษย์กับผลของกุศลในสวรรค์  ย่อมต่างกันไปตามควรแก่ทวาร และอารมณ์ที่จะเกิดขึ้นนั้น ๆ  เพราะกรรมนั้น ๆ

แต่ให้ทราบว่า ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม  ย่อมทำให้ได้รับกระทบอารมณ์ที่น่าพอใจทางตา ทางหู  ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย  แต่ไม่เที่ยง  เพราะฉะนั้น ชั่วขณะเล็กน้อยที่ได้รับผลของกุศลกรรมแล้วก็หมดไป  แล้วก็ย่อมจะได้รับผลของอกุศลกรรม  เมื่อถึงโอกาสที่อกุศลกรรมจะให้ผล.


                                                   ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                                    ............................................








วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555

ควรกล่าวเรื่องจริงที่เป็นประโยชน์


 ขอนอบน้อมแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประการสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะพูดเรื่องจริง ก็จะต้องพิจารณาว่า ในขณะที่พูดนั้น จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล  กำลังมีโทสะหรือไม่ประกอบด้วยโทสะ ไตร่ตรองรอบคอบแล้วว่า เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษในการที่จะกล่าวแม้เรื่องจริง

ถึงแม้ว่าเป็นเรื่องจริง  แต่ถ้าไม่มีประโยชน์ ไม่ควรจะกล่าวเลย แต่ถ้าเป็นเรื่องจริง เห็นแล้วว่าควรจะกล่าวเพื่อประโยชน์ ก็ควรที่จะกล่าว เพราะว่าเรื่องอกุศลทั้งหลายที่เกิดขึ้น สำหรับอกุศลทางวาจา จะไม่ทำให้บุคคลเดียวเป็นอกุศล  แต่จะทำให้อีกหลายบุคคลเป็นอกุศล

ถ้าได้ยินเรื่องที่ไม่จริง  ใครจะทราบว่าเป็นเรื่องที่ไม่จริง  ใช่ไหมคะ  เพราะว่าคนที่บอกหรือคนที่เล่าก็จะต้องบอกว่า  นี่เป็นเรื่องจริง  เพราะฉะนั้นไม่มีทางที่จะรู้เลยว่า  สิ่งที่ได้รับฟังนั้น จริงหรือเท็จ  แล้วถ้าเป็นเรื่องที่ทำให้มีความรู้สึกขุ่นเคืองต่อบุคคลอื่นในขณะนั้น โดยที่เป็นเรื่องไม่จริง ขณะนั้นเป็นอกุศลแล้ว ซึ่งไม่ควรที่จะเกิด และอกุศลนั้นก็จะไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น  อาจจะต่อไปอีกหลายวันหลายเดือนก็ได้  เพราะฉะนั้นมีทางใดที่จะป้องกันไม่ให้อกุศลนั้น เกิดเจริญงอกงามไพบูลย์ขึ้น เมื่อพิจารณาโดยเหตุผล  เห็นสมควรที่จะพูดก็ควรพูด  เพื่อที่จะให้บุคคลอื่นเข้าใจเรื่องจริง ๆ  ที่ถูกต้อง เพื่ออกุศลจิตของเขาจะได้ไม่เกิด  และอกุศลจิตของคนอื่น ๆ อีกหลายคนก็จะได้ไม่พลอยเกิดตามไปด้วย  เพราะว่าอกุศลจิตของคนหนึ่ง จะต่อไปถึงอกุศลของคนอื่น ๆ อีกหลายคน ทางวาจาด้วย

เพราะฉะนั้น ก็ต้องคิดถึงประโยชน์ เรื่องของวาจาทั้งหมด  ถึงแม้จะเป็นเรื่องจริงก็จะต้องคิดด้วยว่า เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์  ถ้าเป็นประโยชน์ คือ เพื่อให้กุศลจิตเกิด ให้มีความเข้าใจถูก  ให้พ้นจากอกุศลซึ่งจะติดตามมาอีกมากมาย  ก็ควรที่จะพูด  แต่ว่าไม่ใช่จงใจเจตนาที่จะพูดเพื่อที่จะให้เกิดอกุศล.


                                                       ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                                            ........................................

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

กิเลสที่ละได้ยาก


ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กิเลสมีหลากหลายประเภทและหลายระดับ  ในบรรดากิเลสทั้งหลาย  กิเลสที่สละได้ยากก็คือ ความเห็นผิด  ความไม่รู้  จึงยึดถือสภาพธรรมะว่าเป็นเรา เพราะไม่รู้จริง ๆ  ไม่ว่าจะบอกว่า  ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นได้  ก็ผ่านไป แม้ว่าจะปรากฏซ้ำ ๆ อยู่ทุกวัน  เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้  เพียงแค่นี้เริ่มคิดหรือยัง ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็ดับไป  ค่อย ๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นเพียงชั่วคราวแค่ไหน เป็นเพียงปรากฏที่แสนสั้น  เพราะฉะนั้นควรใช้คำว่า เพียงปรากฏแล้วก็หมดไป  ไม่กลับมาอีกเลย

เพราะฉะนั้น  เราอยู่ในโลกของความติดข้องในสิ่งที่ไม่เหลือและไม่มี  แต่ยังเก็บไว้ ยังจำไว้ ยังติดข้องอยู่ในสิ่งที่ไม่เหลือ  กว่าจะละคลายความติดข้องได้  ก็ต้องเป็นปัญญาที่เริ่มรู้ความจริงทีละเล็กทีละน้อยและก็ไม่ใช่แสวงหาพรหมจรรย์ด้วย  แต่ต้องอบรมอริยมรรค ซึ่งหมายความถึงความเห็นถูก คือปัญญาที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ  เพราะว่าปัญญาประจักษ์ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้

ขณะนั้มีเห็นไม่มีอย่างอื่นเลย  และมีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นได้เท่านั้นเอง  เรียกว่ามีสภาพธรรม  ๒ อย่าง  เพราะฉะนั้น การที่จะละความเป็นเราได้  ถ้าไม่รู้ว่าขณะนี้มีแต่เห็นกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ขณะหนึ่ง  อีกขณะหนึ่งก็มีแต่ได้ยินกับเสียง ไม่มีเห็น ไม่มีอ่อน ไม่มีแข็ง ไม่มีคิดนึกเลย  ถ้าจะรู้ได้ว่าแต่ละขณะก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏชั่วคราว ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เพราะว่าเกิดแล้วดับ และไม่คำนึงถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เพราะเหตุว่ากำลังเริ่มเข้าใจตามความเป็นจริงของสิ่งที่กำลังเกิดดับหมดจริง ๆ ในขณะนั้น  ก็จะเห็นได้ว่า ไม่มีเรา ไม่มีตัวตน ไม่มีเขา ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสิ่งที่ปรากฏ

 ทางตาขณะนี้ มีสิ่งที่กำลังปรากฏเพียงเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้  เข้าใจแต่ละอย่างก่อน  ส่วนการที่จะรู้เป็นสัตว์ บุคคล สิ่งนั้นสิ่งนี้ต้องรู้แน่  แต่ว่าไม่ใช่ขณะที่กำลังเห็น นี่คือการอบรมอริยมรรคมีองค์แปด ไม่ใช่แสวงหาเพราะต้องการที่จะไม่มี  แต่เพราะว่าไม่มีปัญญาหรือความเห็นถูก......  ความเห็นผิดเป็นอกุศลที่หยาบและยังมีอกุศลที่ละเอียดกว่านั้นอีกที่สละได้ยาก  เพราะเหตุว่า ถ้าไม่สละการยึดถึือแล้วก็จะสละอย่างอื่นไม่ได้เลย

มานะความสำคัญตนซึ่งละได้ด้วยอรหัตมรรค  ซึ่งแสดงให้เห็นความละเอียดยิ่งของความสำคัญตน  มองไม่เห็นเลย  โลภะก็ละเอียด ไม่รู้ชื่อก็มี  และความสำคัญตนที่ละเอียดก็มีด้วย  เรารู้แต่ความสำคัญตนอย่างหยาบ ๆ  เวลาที่มีการแสดงทางกาย วาจา บางครั้งก็รู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นความสำคัญตน แต่ความละเอียดของความสำคัญตนก็ต้องมีด้วย .....ความสำคัญตนเป็นธรรมะ แต่ตอนมานะเกิดขึ้น  ก็คิดว่าเป็นเราด้วยมานะ  เพราะฉะนั้นต้องละความเห็นผิดว่ามานะเป็นเราก่อน  จะไปละมานะก่อนไม่ได้ เพราะยังคงเป็นเราอยู่  เพราะฉะนั้นถ้าธรรมะเกิดก็ต้องรู้ด้วย  โลภะเกิดก็ควรรู้ยิ่ง  มานะเกิดก็ควรรู้ยิ่งด้วยว่าเป็นธรรมะ จนกว่าจะหมดความสงสัยและหมดความยึดถือ ว่าเป็นเราก่อนที่จะสละอกุศลอื่น ๆ

ระหว่างความเห็นผิดกับความไม่รู้  อะไรน่ากลัวกว่ากัน.....ความเห็นผิดยังละได้หมด  เพราะเป็นการรู้แจ้งในสัจธรรม เพราะรู้จริง ๆ ว่าเป็นธรรมะและก็เกิดดับด้วย และไม่มีตัวตน  บางคนอาจสงสัยว่าแล้วทำไมยังมีโลภะ โทสะอยู่  ก็เพราะว่ามีปัจจัยที่จะให้เกิด  ก็เกิดให้รู้ว่าเป็นธรรมะ  ไม่ใช่ว่าจะหมดเหตุปัจจัยที่ให้ไม่มีโลภะ เพราะฉะนั้น  การอบรมความรู้ ความเข้าใจถูกในสภาพธรรมะที่ปรากฏ ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าโลภะระดับไหน โทสะระดับไหน อกุศลระดับไหน อาจหาญร่าเริง เพราะเป็นปัญญาที่สามารถเข้าใจได้ว่าขณะนั้นเป็นธรรมะ

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ปัญญาก็จะสามารถรู้สภาพธรรม  ที่กำลังปรากฏได้ตามความเป็นจริงในขณะนั้น  จึงใช้คำว่า ตามรู้บ่อย ๆ  ไม่ได้แยกกันเลย  คือตามรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้นแหละอยู่บ่อย ๆ  ไม่ใช่ตัวเราที่กำลังจะมีสติระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ  นั่นก็ยังเป็นความเป็นเราที่ยังแฝงอยู่ แต่ขณะใดที่กำลังมีการฟัง มีความเข้าใจขึ้น ๆ  เมื่อสภาพธรรมใดกำลังปรากฏ แล้วกำลังรู้เฉพาะลักษณะสภาพธรรมนั้นด้วยความเข้าใจ  ก็จะเห็นความต่างว่า มีสภาพธรรมกำลังปรากฏอยู่ตามปรกติ  แต่ไม่รู้อะไรเลย  กับขณะที่ฟังธรรมเข้าใจและสภาพธรรมก็กำลังปรากฏตามปรกติ  แต่่มีปัจจัยที่จะให้มีความเข้าใจลักษณะสภาพธรรมหนึ่ง  ก็แสดงว่าขณะนั้นสติสัมปชัญญะ หรือจะใช้คำว่า สติปัฏฐาน เกิดก็ได้
เพราะเหตุว่ามีความรู้ถูก  มีความเห็นถูกในความเป็นธรรมะของธรรมะนั้น ๆ  เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นมานะ ก็มีความรู้ถูกว่าเป็นมานะ  แล้วก็ละเสีย  แต่ก่อนอื่นต้องละความยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตนเสียก่อน.

                                                      .........................................................


                                                        ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

จะหลับหรือตื่นไม่พ้นผลของกรรม


 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จะหลับหรือตื่นไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร  เมื่อมีเหตุปัจจัยทำให้หลับ ภวังคจิตก็จะเกิดขึ้นทำกิจ  เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลของกรรมได้เลย  เวลาตื่นขึ้นก็ต้องมีเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง  รู้กระทบสัมผัสทางกายบ้าง  คิดนึกบ้าง  ซึ่งเป็นผลของกรรมทั้งสิ้น

สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา  จิตที่ทำภวังคกิจเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม  จะห้ามไม่ให้หลับไม่ได้เลย  เมื่อเหตุปัจจัยที่จะทำให้หลับ  ภวังคจิตก็เกิดขึ้นทำกิจ...... จิตที่หลับ คือ ภวังคจิต เป็นวิบากจิต  เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย.....ภวังคจิต ทำกิจดำรงภพชาติในขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่กระทบสัมผัส ไม่นึกคิด...... เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ชัดในเรื่องของกรรมและวิบาก ก็จะต้องรู้ด้วยว่า  แม้การหลับและการตื่นก็เป็นผลของกรรม

ขณะทีจิตกำลังทำภวังคกิจ ไม่มีกิเลสใด ๆ เกิดร่วมกับจิตนั้นเลย  เพราะไม่มีอารมณ์ต่าง ๆ มากระทบทางตา  ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ   เมื่อไม่เห็นก็ไม่มีความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา  เมื่อไม่ได้ยินก็ไม่มีความยินดียินร้ายในเสียง  ไม่ได้กลิ่น  ไม่ลิ้มรส ไม่รู้กระทบสัมผัสและไม่คิดนึกก็จะไม่มีความยินดีพอใจเกิดขึ้นเลย....

วันหนึ่ง ๆ หนีไม่พ้นเรื่องผลของกรรมที่จะต้องหลับบ้างตื่นบ้าง และบางครั้งการไม่หลับ ก็ไม่ใช่เพียงเป็นผลของกรรมเท่านั้น  แต่เป็นผลของการสะสมอกุศลก็ได้  เพราะเหตุว่าจิตที่เป็นโลภะเกิดขึ้นนึกคิดเรื่องราวต่าง ๆ ทางใจ  แม้ว่าไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส  ไม่รู้สิ่งกระทบสัมผัส  แต่ขณะที่กำลังคิดนึกเรื่องราวต่าง ๆ ทางใจในขณะนั้น ไม่ใช่ผลของกรรม แต่เป็นกิเลสที่ทำให้ไม่หลับ

ถ้าพิจารณาก็จะเห็นได้ว่า  ชีวิตในแต่ละขณะจิตหนีไม่พ้นกรรมและผลของกรรมเลย


                                                               ..................................................................                                                      


                                                                                               ขออุทิศส่วนกุศลใด้แก่สรรพสัตว์

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

รูปทั้งหมดไม่ใช่กรรม


ขอนอบน้อมแด่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรมหรือสภาพธรรมที่เป็นกรรม  ได้แก่ เจตนาเจตสิก เป็นปรมัตถธรรมที่เกิดกับจิตทุกดวง....เพราะเหตุใดรูปจึงไม่ใช่กรรม  เพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้  เช่น จักขุปสาทรูปไม่เห็นอะไร  โสตปสาทรูปไม่ได้ยินอะไร  ฆานปสาทรูปไม่ได้กลิ่นอะไร  ชิวหาปสาทรูปไม่ลิ้มรสอะไร  กายปสาทรูปไม่รู้กระทบสัมผัสอะไรเลย  เพราะว่ารูปชนิดหนึ่ง ๆ สามารถกระทบเฉพาะสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น  ส่วนสภาพธรรมที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏนั้น เป็นนามธรรม  คือ จิตและเจตสิกเกิดขึ้นรู้รูป  เสียง กลิ่น รส  เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวที่กำลังปรากฏ

จิตปรมัตถ์ไม่เป็นกรรม....จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ต่าง ๆ  ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ....จิตเป็นสังขารธรรม  (สังขารธรรม คือ ธรรมที่เกิดขึ้น เพราะมีเหตุปัจจัย ได้แก่ จิต เจตสิก รูป)  ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมเกิดร่วมด้วย แล้วแต่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด ก็จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับจิตประเภทนั้น  จิตเป็นเพียงเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้  เป็นธาตุรู้ในขณะที่เห็น  ขณะที่ได้ยิน  ขณะที่ได้กลิ่น  ขณะที่ลิ้มรส  ขณะที่กระทบสัมผัส  ขณะที่คิดนึก.....เวลาที่รู้สึกเป็นสุข  เป็นทุกข์ หรือเฉย ๆ  ไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิกประเภทหนึ่งซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง คือ เวทนาเจตสิก  และขณะที่เห็นแล้วจำได้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร  สภาพที่จำนั้นก็ไม่ใช่จิต  แต่เป็นสัญญาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง  เพราะฉะนั้นจิตไม่ใช่กรรม

จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ไม่ใช่ตัวกรรม ไม่ใช่สภาพธรรมที่กระทำกรรม  แต่มีเจตสิกธรรมดวงหนึ่งในเจตสิก ๕๒ ดวง ซึ่งได้แก่ เจตนาเจตสิกเป็นกรรม  เพราะเหตุว่าเจตนาเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะจงใจ ตั้งใจ ขวนขวายหรือมุ่งหวัง คือ จัดสรรให้ธรรมที่สัมปยุตต์กับตนเป็นไปในอารมณ์ หรือถึงความขนขวายในการปรุงแต่งสิ่งที่เป็นสังขตธรรม (สังขตธรรม หมายถึง สภาพธรรมอันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘)

ไม่ว่าจะคิดนึก จงใจ ตั้งใจที่จะกระทำอะไรก็ตาม  ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางวาจา  ขณะนั้นให้ทราบว่า
เป็นสภาพของเจตนาเจตสิกที่จงใจ ตั้งใจหรือขนขวายในการปรุงแต่งสิ่งที่เป็นสังขตะ.....เจตนาเจตสิกเป็นสังขารขันธ์ เป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งยิ่งกว่าสังขารขันธ์อื่น....เจตนาเจตสิกเป็น
กัมมปัจจัย  เป็นสภาพลักษณะที่จงใจเป็นลักษณะ ซึ่งมีข้อความอุปมาว่า เหมือนกับลูกมือผู้เป็นหัวหน้าหรือเป็นนายช่างไม้ใหญ่  ย่อมยังกิจของตนและกิจของคนอื่นให้สำเร็จ


                                                       .........................................................

                                                         
                                                          ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

ปัจจัยที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้

                               
ถ้าจะพิจารณาจริง ๆ แล้ว จะเห็นได้ว่าชีวิตเต็มไปด้วยภัยและความลำบากทุกขณะ  ชีวิตมิได้เป็นไปเพื่อความสุขเท่านั้น  แต่ควรที่จะทราบว่า  มีปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้

ปัจจัยที่จะทำให้ชีวิตอันบอบบาง เล็กน้อยและยากลำบาก ดำรงอยู่ได้  คือ.... 

                                            ปัจจัยที่ ๑ ชีวิตเนื่องด้วยลมหายใจเข้าออก
ตราบใดที่ยังมีการหายใจเข้าออกสม่ำเสมออยู่  จะไม่รู้เลยว่า ชีวิตนี้ฝากไว้ที่ลมหายใจเพียงแผ่ว ๆ  ถ้าหายใจเข้าแล้วไม่หายใจออก ก็จะดำรงอยู่ไม่ได้  การหายใจไม่สะดวกติดขัดแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะรู้สึกว่าทรมานมากทีเดียว  แต่ถ้าหายใจไม่ออกอึดอัดมาก ๆ  ขณะนั้นก็เป็นภัยอย่างหนึ่งของชีวิต  เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า  ชีวิตดำรงอยู่ได้ด้วย มีลมหายใจเป็นปัจจัย

                                         
                                            ปัจจัยที่ ๒ ชีวิตเนื่องด้วยมหาภูตรูป
ชีวิตเนื่องด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งมีความสม่ำเสมอเป็นปกติ  เมื่อใดธาตุทั้ง ๔ มีการเปลี่ยนแปลงหรือแปรปรวน ไม่ปรกติ เช่น  มีธาตุลมมากเกินไป  ทำให้เกิดอาการปั่นป่วนในร่างกาย  ก็จะทำให้ถึงกับสิ้นสติได้  หรืออาจถึงกับพิการ  หรือเป็นอัมพาตได้  ก็จะเห็นได้ว่า  ธาตุทั้ง ๔ นี้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้

                                     
                                            ปัจจัยที่ ๓  ชีวิตเนื่องด้วยกวฬิการาหาร
ชีวิตเนื่องด้วยกวฬิการาหาร คือ อาหารที่บริโภคเป็นคำ ๆ ซึ่งทุกคนจำเป็นที่สุด ที่จะต้องบริโภคอาหาร
ถ้าอดอาหารเป็นเวลานาน  หรืออยู่ในที่ที่มีอาหารจำกัด  หรือขาดแคลนอาหาร  ก็จะทำให้ถึงกับสิ้นชีวิตได้เช่นกัน  เพราะเหตุว่าชีวิตเนื่องด้วยกวฬิการาหาร


                                           ปัจจัยที่ ๔ ชีวิตเนื่องด้วยไฟที่เกิดจากกรรม
ชีวิตเนื่องด้วยไออุ่น ได้แก่ ไฟที่เกิดจากกรรมที่ทำให้ร่างกายอบอุ่นและทำให้อาหารที่บริโภคย่อย  ถ้าอาหารที่บริโภคไม่ย่อย ชีวิตก็ดำรงอยู่ไม่ได้เหมือนกัน


                                          ปัจจัยที่ ๕ ชีวิตเนื่องด้วยวิญญาณ
ชีวิตเนื่องด้วยวิญญาณ คือ เมื่อใดที่จุติจิตเกิดและดับ เมื่อนั้นสัตว์นั้นก็ไม่มีชีวิต  เพราะฉะนั้นถ้าจะพิจารณาดูความเป็นชีวิต  สภาพที่มีชีวิตของทุกชีวิตในโลก  จะเห็นได้ว่า ชีวิตที่ปรากฏอยู่ในโลกนี้ได้ ก็ด้วยปัจจัยต่าง ๆ  ไม่ใช่ด้วยเหตุอื่นเลย  เหตุอื่นก็เป็นไปด้วยความพอใจในอุปกรณ์ของชีวิต  ซึ่งจะทำให้พอใจยิ่งขึ้น สะดวกสบายยิ่งขึ้น  แต่ว่าอุปกรณ์คือ ปัจจัยแท้จริงของชีวิตนั้น  ย่อมขึ้นอยู่กับลมหายใจ  ขึ้นอยู่กับมหาภูตรูป ขึ้นอยู่กับกวฬิการาหาร ขึ้นอยู่กับไออุ่นและขึ้นอยู่กับวิญญาณ

เพราะฉะนั้น บางคนก็คิดถึงชีวิตที่ยาวนาน  แต่ถ้าปัจจัยเหล่านี้เกิดผิดปรกติเมื่อไร  เมื่อนั้นชีวิตก็ต้องสิ้นสุดลงทันที

                   
                                             ขออุทิศาส่วนกุศลแก่สรรพสัตว์


                                                   ..................................


วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555

หนีไม่พ้นผลของกรรม


วันหนึ่ง ๆ หนีไม่พ้นเรื่องผลของกรรม  ไม่ว่าจะหลับหรือตื่นก็หนีไม่่พ้นเรื่องผลของกรรม.....ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา  เพราะฉะนั้นจะห้ามไม่ให้หลับ  ไม่ให้ตื่น ไม่ให้เห็น ไม่ให้ได้กลิ่น ไม่ให้ลิ้มรส ไม่ให้รู้กระทบสัมผัสไม่ได้เลย  เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่กล่าวมานี้ทั้งหมดเป็นวิบากจิตหรือผลของกรรม  

การหลับเป็นภวังค์  จิตที่ทำภวังคกิจเป็นวิบากจิต  เป็นผลของกรรม  มีกรรมเป็นปัจจัย เป็นเหตุทำให้ภวังคจิตเกิดขึ้น.....ภวังคจิต ทำกิจดำรงภพชาติในขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้กระทบสัมผัส  บังคับบัญชาไม่ได้  บางครั้งอยากจะหลับ แต่ก็ไม่สามารถจะหลับได้ เพราะไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ภวังคจิตเกิดขึ้นได้....

การตื่นก็เป็นผลของกรรม  การหลับหรือการนอนไม่หลับก็เป็นผลของกรรม  เมื่อไม่หลับก็ต้องเห็น จิตเห็นเป็นผลของกรรม  ต้องได้ยิน จิตได้ยินก็เป็นผลของกรรมและเวลาที่หลับแล้วจะไม่ตื่นก็ไม่ได้  ถ้าตื่นก็คือเห็น ซึ่งเป็นผลของกรรมเช่นกัน

บางครั้งการที่ไม่หลับ  ก็ไม่ใช่เพียงเป็นผลของกรรมเท่านั้น  แต่เป็นผลของการสะสมของอกุศลก็ได้  เพราะเหตุว่าจิตที่เป็นโลภะเกิดขึ้นนึกคิดเรื่องราวต่าง ๆ ทางใจ  ถึงแม้ว่าจะไม่เห็น ไม่ได้ยิน  ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้รู้สิ่งกระทบสัมผัสทางกาย  แต่ก็มีการนึกคิดเรื่องราวต่าง ๆ ทางใจ  ในขณะนั้นไม่ใช่ผลของกรรม แต่เป็นกิเลสที่ทำให้ไม่หลับ

เพราะฉะนั้น  เมื่อเข้าใจรู้ชัดในเรื่องของกรรมและผลของกรรมหรือวิบากจิตแล้ว  ก็จะเห็นได้ว่า  จะหลับหรือตื่นก็หนีไม่พ้นเรื่องผลของกรรม

                                                           

                                 ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์


                                       ........................................

วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ขณะประเสริฐซึ่งหาได้ยาก



เราเกิดมาชาตินี้  ถ้ามีโอกาสได้ฟังพระธรรม  จะเข้าใจมากน้อยเพียงใดก็ตาม  ก็ควรที่จะฟังต่อไปเรื่อย ๆ  สะสมความเข้าใจเพื่อเป็นปัจจัยปรุงแต่งจิต  แม้ว่าชาตินี้ยังไม่ถึงการรู้แจ้งเป็นพระอริยบุคคลก็ตาม  ชาติหน้าก็ต้องฟังต่อไปอีก  จนกว่าจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง  ซึ่งถ้าจะพิจารณาดูแต่ละชีวิตในโลก  ขณะที่ประเสริฐซึ่งหาได้ยากนั้น  ได้แก่....

- ขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงอุบัติขึ้น ๑

- ขณะที่ได้เกิดขึ้นในปฏิรูปเทส ๑ คือ เกิดในประเทศที่มีพระพุทธศาสนา

-ขณะที่ได้สัมมาทิฏฐิ ๑ คือ ความเห็นถูก

-ขณะที่อวัยวะทั้ง ๖ ไม่บกพร่อง ๑

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านมีโอกาสได้ฟังพระธรรม  ก็แสดงว่าท่านก็เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยขณะเหล่านี้  ขอขณะเหล่านี้จงอย่าได้ล่วงเลยท่านไปเสีย

ตามข้อความในปรมัตถทีปนีอรรถกถาขุททกนิกาย ฉักกนิบาต มาลุงกยปุตตเถรคาถาที่ ๕

                                                   
                                        ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                             ........................................

วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐


ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุญหรือกุศล  เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี  เป็นสภาพธรรมที่ชำระจิตให้สะอาด  ขณะที่เป็นบุญ  ขณะนั้นจิตสะอาดจากอกุศล ได้แก่ โลภะ โทสะและโมหะ...บุญหรือสภาพจิตที่ดี ที่เป็นกุศลนั้น มี ๑๐ ประการ เรียกว่า "กิริยาวัตถุ ๑๐"

กิริยาวัตถุ ๑๐ หมายถึง  ที่ตั้งแห่งการกระทำกรรมดี ๑๐ ประการ หรือหมายถึงกุศลจิตที่มีพละกำลังมาก จนสามารถทำให้มีการกระทำ โดยการแสดงออกมาทางกาย ทางวาจาหรือทางใจ  ได้แก่

๑.  ทานมัย            บุญสำเร็จจากการให้วัตถุ  เพื่อสงเคราะห์หรือบูชาแก่ผู้อื่น

๒.  ศีลมัย              บุญสำเร็จจากการงดเว้นจากทุจริต  หรือการประพฤติสุจิตทางกายและทางวาจา

๓.  ภาวนามัย         บุญสำเร็จจากการอบรมจิตให้สงบจากกิเลส หมายถึง สมถภาวนา และการ                             อบรมปัญญาเพื่อละกิเลสทั้งปวง หมายถึง วิปัสสนาภาวนา

๔.  อปจายนมัย      บุญสำเร็จจากการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน

๕.  เวยยาวัจจมัย    บุญสำเร็จจากการขวนขวายบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น

๖.  ปัตติทานมัย      บุญสำเร็จจากการให้ส่วนบุญที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว

๗.  ปัตตานุโมทนามัย     บุุญสำเร็จจากการยินดีในกุศล ที่ผู้อื่นได้กระทำแล้ว

๘.  ธัมมัสสวนมัย     บุญสำเร็จจากการฟังพระสัทธรรม

๙.  ธัมมเทสนามัย    บุญสำเร็จจากการแสดงพระสัทธรรม

๑๐. ทิฏฐุชุกรรม       การกระทำความเห็นให้ตรง  ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง

วิธีปฏิบัติเพื่อเจริญบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ 
ก่อนอื่นต้องเริ่มต้นด้วยความเห็นถูก ขั้นแรกก็คือ การฟังพระธรรมให้เข้าใจถูกต้อง  มีความเห็นตรง  เป็นปัญญาขั้นต้น ละความเห็นผิดทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าปัญญาเจริญยิ่งขึ้น  เป็นปัจจัยให้การกระทำกุศลประการต่าง ๆ  เจริญยิ่งขึ้น

๑.  ทานมัย   บุญสำเร็จจากการให้วัตถุ  เพื่อสงเคราะห์หรือบูชาผู้อื่น....คำว่า "ทาน" คือ การสละสิ่งของหรือวัตถุ เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น เป็นต้น  การสละด้วยเจตนาดี ปรารถนาเพื่อให้ผู้อื่นมีความสุข  แม้ว่าวัตถุนั้นจะไม่มีค่าสำหรับตน แต่ก็เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ขณะนั้นจิตเป็นกุศล เป็นบุญสำเร็จด้วยการให้ ก็เป็น "ทานกุศล"  ส่วนทานที่ให้เพื่อบูชาคุณความดีของผู้อื่น เช่น การให้ของที่เหมาะสมแก่ผู้มีพระคุณ มีคุณธรรม หรือการถวายสิ่งของเครื่องบูชาคุณพระรัตนตรัย ก็เป็นการสละการให้ทาน แต่เป็นการให้เพื่อบูชาคุณความดี..

ในชีวิตประจำวันแต่ละวัน ทุกคนมีการสละการให้สิ่งของ หรือวัตถุเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น อย่างน้อยก็ให้แก่คนในครอบครัว ญาติพี่น้อง คนใกล้ชิดหรือเพื่อนฝูง การให้ทานเป็นการสละความตระหนี่ในใจและสละความติดข้องในทรัพย์สินของตนด้วย  เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาจึงเห็นประโยชน์ของการเจริญกุศลในขั้นต้นนี้ เพื่อเป็นปัจจัยที่จะละคลายกิเลสให้เบาบางลง

นอกจากนั้นยังมีทานอีกอย่างหนึ่งที่กระทำได้ยาก คือ "อภัยทาน"  หมายถึง การสละความผูกโกรธแก่บุคคลผู้ทำให้เราไม่พอใจ...... ขณะให้อภัยทาน จิตขณะนั้นเป็นกุศล  ผู้ได้รับอภัยทานย่อมมีความสบายใจ  นี่ก็เป็นการให้ความสบายใจแก่ผู้อื่น ซึ่งเป็นกุศลที่ควรอบรมเจริญให้เกิดขึ้นมีขึ้น

ส่วน "ธรรมทาน" นั้น เป็นการให้สิ่งที่มีประโยชน์สูงสุดแก่ผู้อื่น  เพราะเหตุว่า "ธรรมะ" เป็นสิ่งเดียวเท่านั้น ที่ทำให้ผู้รับมีความสุขอย่างแท้จริง  ทำให้มีที่พึ่งและพ้นทุกข์ได้จริง ๆ  จะเห็นว่าทานทุกประเภทล้วนมีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน จึงควรอบรมเจริญให้ยิ่งขึ้นตามกำลังปัญญาของตน

๒.  ศีลมัย   บุญสำเร็จจากการงดเว้นจากทุจริต  หรือการประพฤติสุจริตทางกายและทางวาจา....คำว่า "ศีล"  คือ ข้อประพฤติหรือข้อปฏิบัติสุจริต ที่เป็นไปในทางกายหรือทางวาจา  ซึ่งเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน  ดังนั้น เราจึงควรเห็นประโยชน์ของการเป็นผู้มีศีล  คือ มีความประพฤติดีด้วยการไม่เบียดเบียนหรือฆ่าสัตว์  ไม่ลักทรัพย์หรือสิ่งของผู้อื่นที่ไม่ได้ให้  ไม่ล่วงเกินสามีหรือภรรยาผู้อื่น  พูดแต่สิ่งที่เป็นความจริง  งดเว้นการดื่มหรือเสพของมึนเมาทั้งหลาย  ศีลจะสมบูรณ์ได้ก็ด้วยการวิรัติ  หรือการงดเว้นทุจริตทั้งปวง

๓.  ภาวนามัย   บุญสำเร็จจากการอบรมจิตให้สงบจากกิเลส (สมถภาวนา)  และการอบรมปัญญาเพื่อละกิเลสทั้งปวง (วิปัสสนาภาวนา)....คำว่า "ภาวนา"  หมายถึง  การอบรมกุศลธรรมให้มีขึ้น หรืออบรมกุศลธรรมที่มีอยู่แล้วให้เจริญยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญา  จึงควรเริ่มด้วยการฟังธรรมให้เข้าใจ  เมื่อปัญญามีขึ้นเจริญขึ้น  ขณะนั้นจิตสงบจากอกุศล ซึ่งเป็นสมถภาวนา เป็นเพียงแค่ความสงบจากกิเลสเท่านั้น....ส่วนการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น  เป็นหนทางดับกิเลส คือ รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้  ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการฟังพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนเข้าใจก่อน เพื่อเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ตามกำลัง

๔.  อปจายนมัย  บุญสำเร็จจากการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน....ขณะที่มีการอ่อนน้อมถ่อมตน ขณะนั้นจิตเป็นกุศล การรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม ด้วยว่าเป็นผู้มีพระคุณ มีอาวุโสหรือด้วยเหตุว่ามีคุณธรรม  มิใช่ด้วยเหตุอื่น.....การแสดงความอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม เป็นการลดความสำคัญตน (มานะ) และลดความเป็นตัวตน (อัตตา)

๕.  เวยยาวัจจมัย  บุญสำเร็จจากการขวนขวายบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น....การให้ความช่วยเหลือหรือสงเคราะห์ผู้อื่น กระทำได้ด้วยกายหรือวาจา เป็นการสละความเห็นแก่ตัว สละความติดข้องยึดถือในความเป็นตัวตน ให้เบาบางลง.....การสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับประโยชน์สุข โดยไม่เลือกว่าเป็นใคร หรือบุคคลใด ขณะนั้นจิตเป็นกุศล  แม้แต่การช่วยเหลือผู้อื่นเล็ก ๆ น้อย ๆ  ด้วยความปรารถนาให้เขาได้รับประโยชน์สุข ก็เป็นการขัดเกลากิเลสได้เช่นกัน

๖. ปัตติทานมัย  บุญสำเร็จจากการอุทิศ หรือให้ส่วนบุญที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว....เมื่อได้มีการบำเพ็ญกุศลอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว  ควรพิจารณาว่า ยังมีสัตว์บางประเภท  สามารถที่จะรับส่วนบุญ จากการทำกุศลของเราได้  การนึกถึงผู้อื่นเพื่อประโยชน์สุขของเขา จึงอุทิศส่วนกุศลที่เราได้บำเพ็ญแล้ว  ขณะนั้นจิตเป็นกุศล เพราะว่าขณะนั้นคิดถึงผู้อื่น ปรารถนาจะให้ผู้อื่นได้รับส่วนกุศลด้วย  และที่สำคัญคือญาติพี่น้องทั้งหลาย ที่เกิดเป็นเปรต เมื่อได้รับส่วนกุศลที่อุทิศให้  เขาก็สามารถที่จะพ้นจากความทุกข์อันเกิดจากความหิวกระหาย และพ้นจากภพภูมินั้นได้ด้วย

๗.  ปัตตานุโมทนามัย  บุญสำเร็จจากการยินดีในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำแล้ว....เมื่อผู้อื่นได้กระทำกุศลกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด ควรมีความชื่นชมยินดีด้วย  สภาพของจิตในขณะนั้น เป็นกุศลจิต  เพราะความยินดีในความดีเป็นธรรมฝ่ายดี   แม้ไม่ต้องกล่าวคำว่า "อนุโมทนาบุญ"  จิตขณะนั้นก็เป็นกุศล เพราะฉะนั้น  เมื่อมีใครกระทำความดี ก็ควรที่จะยินดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม  เพราะเป็นบุญหรือกุศลประการหนึ่งที่กระทำได้โดยไม่ยากและไม่ต้องลงทุน

๘.  ธัมมัสสวนมัย  บุญสำเร็จจากการฟังพระสัทธรรม....การฟังพระธรรมนั้น  ขณะมีศรัทธาหรือมีความเข้าใจ  จิตขณะนั้นเป็นกุศล  แต่ถ้าขณะนั้นฟังธรรมไม่เข้าใจ เพราะไม่รู้เรื่องเลย จิตขณะนั้นเป็นอกุศล จึงไม่กล่าวว่าเป็นบุญที่เกิดจากการฟังธรรม....การได้ฟังพระธรรมเป็นสิ่งเลิศ เพราะพระธรรมเป็นสิ่งมีค่ามาก  พระสาวกซึ่งหมายถึงผู้ที่ได้สำเร็จบรรลุธรรมขั้นสูงได้  ก็เพราะการฟังพระธรรม  ตัวอย่างเช่น พระสารีบุตรซึ่งมีปัญญามาก ก็ยังต้องฟังพระธรรมจากท่านพระอัสสชิ จนบรรลุธรรม....ปัญญาและความเห็นถูกต้องจะเกิดได้  และจะเจริญขึ้นได้  ก็เพราะว่าอาศัยการฟังพระธรรมเป็นเครื่องเกื้อหนุน ดังนั้นจึงควรเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรมเป็นอย่างยิ่ง

๙.  ธัมมเทสนามัย  บุญสำเร็จจากการแสดงพระสัทธรรม....ขณะที่คิดจะอนุเคราะห์ให้ผู้อื่น ได้เข้าใจพระธรรมที่ถูกต้อง  โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน หรือไม่หวังลาภสักการะใด ๆ จากผู้ฟัง  ขณะนั้นจิตเป็นกุศล  การแสดงธรรมในสาระที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง ย่อมเป็นบุญหรือเป็นกุศลในขณะนั้น

๑๐. ทิฏฐุชุกรรม  การกระทำความเห็นให้ตรงถูกต้องตามความเป็นจริง....คำว่า "ความเห็นตรง" หมายถึง  ความเห็นถูกต้อง ขณะใดมีความเห็นถูก  ปัญญาเกิดรู้ตามความเป็นจริง  ขณะนั้นจิตเป็นกุศลจิต
ความเห็นตรงเป็นปัจจัยทำให้กุศลหรือบุญประการอื่น ๆ  เจริญขึ้นได้  เพราะเหตุว่าความเห็นตรงเป็นธรรมฝ่ายดี

ดังนั้น  การที่จะทำให้บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ เกิดขึ้นและเจริญขึ้นได้  ก็ต้องเริ่มต้นด้วยมีความเห็นถูกเป็นปัจจัย  อยู่ดี ๆ "ความเห็นถูก" จะเกิดเองไม่ได้  จะต้องมีการฟังพระธรรมที่ถูกต้อง เพื่อที่จะละความเห็นผิดทีละเล็กทีละน้อย  ขณะใดมีความเข้าใจในพระธรรม  ขณะนั้นเป็นปัญญา.....การอ่านบุญกิริยาวัตถุทั้ง ๑๐ ประการแล้วเข้าใจ  ขณะนั้นก็เป็นปัญญาเช่นกัน  และปัญญาซึ่งเกิดจากการฟัง การอ่าน  การศึกษาพระธรรมนี้เอง  ก็จะค่อย ๆ น้อมนำจิตให้เห็นคุณประโยชน์ของการเจริญกุศลประการต่าง ๆ และอบรมเจริญให้ยิ่ง ๆ ขึ้น


                                           ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์


                                               ...............................

















วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

๑๒ สิงหาคคม ๒๕๕๕,วันเฉลิมพระชนมพรรษ สมเด็จพระนางเจ้าสริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ






                               ทีฆายุกา  โหตุ  มหาราชินี

                                         ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม  ขอเดชะ
                                      สมาคมไทย-กวนอิม,สวิตเซอร์แลนด์
                                       (Thai-Kuan Yin-Union,Switzerland)

                                        ...................................................





ความหมายของคำว่า "ภควา"

                                            
                                                คำว่า  ภควา   เป็นคำประเสริฐที่สุด
                                    คำว่า   ภควา   เป็นคำสูงสุด   พระตถาคตนั้น
                                    ทรงเป็นผู้ที่ควรแก่ความเคารพคารวะ   ด้วย
                                    เหตุนั้น   จึงขนานพระนามว่า  ภควา.

อันที่จริง   คำพูดที่ระบุถึงบุคคลผู้ประเสริฐที่สุด  กล่าวกันว่า  ประเสริฐที่สุด  เพราะดำเนินไปด้วยกันกับคุณประเสริฐที่สุด.   อีกประการหนึ่ง  ที่ชื่อว่า  วจนะ  เพราะอรรถว่า  อันบุคคลกล่าว  ได้แก่ความหมาย.  เพราะเหตุนั้น ในบทว่า   ภควาติ  วจนํ  เสฏํ  จึงมีความหมายว่า   ความหมายใดที่จะพึงพูดด้วยคำว่า   ภควา  นี้   ความหมายนั้นประเสริฐที่สุด.   แม้ในบทว่า   ภควาติ  วจนมุตฺตมํ  นี้   ก็นัยนี้แล.   บทว่า   คารวยุตฺโต  ได้แก่  ชื่อว่า  ทรงเป็นผู้ควรแก่ความเคารพคารวะ  เพราะทรงประกอบด้วยคุณของบุคคลผู้เป็นที่เคารพ.   อีกประการหนึ่ง  พระตถาคต  ชื่อว่า  ทรงควรแก่ความเคารพ  ก็เพราะเหตุที่ทรงควรซึ่งการทำความเคารพย่างดียิ่ง.   หมายความว่า  ทรงควรแก่ความเคารพ.   เมื่อเป็นเช่นนั้น  คำว่า  ภควา  นี้  จึงเป็นคำเรียกบุคคลผู้วิเศษโดยคุณ  บุคคลผู้สูงสุดกว่าสัตว์ และบุคคลผู้เป็นที่เคารพคารวะ  ดังนี้แล

                                             พระพุทธเจ้านั้น   บัณฑิตขนานพระนามว่า
                                   ภควา  เพราะเหตุที่พระองค์  มีภคธรรม ๑  ทรงมีปรกติ
                                   เสพภคธรรม ๑  ทรงมีภาคธรรม ๑  ทรงจำแนกแจกแจง
                                   ธรรม ๑  ทรงทำลายนามรูป ๑  ทรงมีภาคยธรรม ๑
                                   ทรงมีพระองค์อบรมดีแล้ว  ด้วยญายธรรมจำนวนมาก ๑
                                   ทรงถึงที่สุดแห่งภพ ๑

และด้วยอำนาจแห่งคาถานี้ว่า

                                           เพราะเหตุที่  พระพุทธเจ้าทรงมีภาคยธรรม ๑  ทรง
                                  ประกอบด้วยภัคคธรรม ๑  ทรงจำแนกแจกแจงธรรม ๑
                                  ทรงมีคนภักดี ๑   ทรงคายการไปในภพทั้งหลาย ๑  ฉะนั้น
                                  จึงได้รับขนานพระนามว่า  ภควา.

ก็ความหมายนี้นั้น  ได้กล่าวไว้แล้วในพุทธานุสตินิทเทส   ในวิสุทธิมรรคอย่างครบถ้วน  เพราะเหตุนั้น   นักศึกษาพึงทราบตามนัยที่กล่าวไว้แล้วใน วิสุทธิมรรคนั้นเถิด.

                                         ความหมายของภควาอีกนัยหนึ่ง
                                 อีกนัยหนึ่ง  พระนามว่า  ภควา  เพราะหมายความว่า  ทรงมีภาคธรรม
                                 พระนามว่า  ภควา  เพราะหมายความว่า   ผู้อบรมพุทธกรรม
                                 พระนามว่า  ภควา  เพราะหมายความว่า   ทรงเสพภาคธรรม
                                 พระนามว่า  ภควา  เพราะหมายความว่า   ทรงเสพภคธรรม
                                 พระนามว่า  ภควา  เพราะหมายความว่า   ทรงมีคนภักดี
                                 พระนามว่า  ภควา  เพราะหมายความว่า   ทรงคายภคธรรม
                                 พระนามว่า  ภควา  เพราะหมายความว่า   ทรงภาคธรรม

                                                 .........................................


                                                         ขออนุโมทนาบุญค่ะ

วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ทิศ ๖


                           ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
 


ทิศ ๖ คือ บุคคล ๖ ประเภท

อริยสาวกเป็นผู้ปกปิด (ดูแล, เลี้ยงดู) ทิศทั้ง ๖ คือ ควรทราบว่า
๑. ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ มารดาบิดา
๒.ทิศเบื้อขวา ได้แก่ อาจารย์
๓.ทิศเบื้องหลัง ได้แก่ บุตรภรรยา
๔.ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ มิตรและอำมาตย์
๕.เบื้อทิศเบื้องล่าง (เบื้องต่ำ) ได้แก่ ทาสและกรรมกร
๖.ทิศเบื้องบน ได้แก่ สมณพราหมณ์

การปฏิบัติตนต่อบุคคลทั้ง ๖ ประเภท มีดังนี้


๑. ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ บิดามารดา

        บุตรธิดาควรเลี้ยงดูบำรุงมารดาบิดา ด้วยสถาน ๕ คือ
        ๑. ด้วยตั้งใจว่า ท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ
        ๒. จักรับทำกิจของท่าน
        ๓. จักดำรงวงศ์ตระกูล
        ๔. จักปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก
        ๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน

       มารดาบิดา พึงบำรุงเลี้ยงบุตรและอนุเคราะห์บุตรด้วย ๕ สถาน ได้แก่
        ๑. ห้ามจากการกระทำความชั่วทั้งปวง
        ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
        ๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
        ๔. หาภรรยาที่สมควรให้
        ๕. มอบทรัพย์ให้เมื่อถึงเวลาอันสมควร 

๒. ทิศเบื้องขวา ได้แก่ อาจารย์
       ศิษย์พึงอนุเคราะห์ด้วยสถาน ๕ คือ
       ๑.  แนะนำดี
       ๒. ให้เรียนดี
       ๓. บอกศิษย์ด้วยดีในศิลปวิทยาทั้งหมด
       ๔. ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง
       ๕. ทำความป้องกันในทิสทั้งหลาย

       อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา อันศิษย์บำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว 
       ย่อมอนุเคราะห์ด้วยสถาน ๕ เหล่านี้  ทิศเบื้องขวานั้น
       ชื่อว่า อันศิษย์ดูแลให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัยด้วยประการฉะนี้

๓. ทิศเบื้องหลัง ได้แก่  บุตรและภรรยา อันสามีพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ
        ๑. ด้วยยกย่องว่าเป็นภรรยา
        ๒. ด้วยไม่ดูหมิ่น
        ๓. ด้วยไม่ประพฤตินอกใจ
        ๔. ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้
        ๕. ด้วยให้เครื่องแต่งตัว

       บุตรและภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลับ อันสามีบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว 
       ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕ คือ
       ๑. จัดงานดี
       ๒. สงเคราะห์คนข้างเคียงสามีดี
       ๓. ไม่ประพฤตินอกใจสามี
       ๔. รักษาทรัพย์ที่สามีหามาให้
       ๕. ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง

๔. ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ มิตร อันกุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ
       ๑. ด้วยการให้ปัน
       ๒. ด้วยเจรจาถ้อยคำเป็นที่รัก
       ๓. ด้วยประพฤติประโยชน์
       ๔. ด้วยความเป็นผูมีตนเสมอ
       ๕. ด้วยไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความเป็นจริง  

       มิตรผู้เป็นทิศเบื้องซ้าย อันกุลบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว
       ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน  ๕ คือ
       ๑. รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว
       ๒. รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว
       ๓. เมื่อมิตรมีภัย เอาเป็นที่พึงพำนักได้
       ๔. ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ
       ๕. นับถือตลอดถึงวงศ์ตระกูลของมิตร

๕. ทิศเบื้องต่ำ ได้แก่ ทาสและกรรมกร อันนายพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ
       ๑. ด้วยจัดการงาน ให้ทำตามสมควรแก่กำลัง
       ๒. ด้วยให้อาหารและรางวัล
       ๓. ด้วยรักษษในคราวเจ็บไข้
       ๔. ด้วยแจกของมีรสแปลกประหลาดให้
       ๕. ด้วยปล่อยให้ในสมัย

       อันนายบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยสถาน ๕ คือ
       ๑. ลุกขึ้นทำการงานก่อนนาย
       ๒  เลิกการงานทีหลังนาย
       ๓. ถือเอาแต่ของที่นายให้
       ๔. ทำการงานให้ดีขึ้น
       ๕. นำคุณของนายไปสรรเสริญ

๖. ทิศเบื้องบน ได้แก่ สมณพราหมณ์ อันกุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ
       ๑. ด้วยกายกรรมประกอบด้วยเมตตา
       ๒. ด้วยวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา
       ๓. ด้วยมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา
       ๔. ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู
       ๕. ด้วยให้อามิสทานเนือง ๆ

       อันกุลบุตรบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว
       ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๖ เหล่านี้ คือ
       ๑. ห้ามจากความชั่ว
       ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
       ๓. อนุเคราะห์ด้วยใจงาม
       ๔. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
       ๕. ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง
       ๖. บอกทางสวรรค์ให้

       อันกุลบุตรบำรุงแล้วด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วย ๖ สถานเหล่านี้ ทิศเบื้องบนนั้นชื่อว่า อันกุลบุตรบำรุงให้เกษมสำราญให้ไม่มีภัย ด้วยประการฉะนี้


                                                   ..............................

                                                       ขออนุโมทนาค่ะ


































วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อานิสงส์การสนทนาธรรมตามกาล



                            ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                   

                           อานิสงส์ของการสนทนาธรรมตามกาล ๑๐ ประการ ได้แก่

                                     ๑.  ทำให้จิตเป็นกุศล
                                     ๒.  ทำให้มีไหวพริบปฏิภาณดี
                                     ๓.  ทำให้ได้มีสติปัญญาเฉลี่ยวฉลาด
                                     ๔.  ทำให้ได้ยินได้ฟังธรรมะที่ตนยังไม่เคยได้ฟัง
                                     ๕.  ธรรมที่ฟังแล้ว ยังไม่เข้าใจชัด ย่อมเข้าใจชัดขึ้น
                                     ๖.  ทำให้บรรเทาความสงสัยเสียได้
                                     ๗.  เป็นการทำความเห็นของตนให้ตรง
                                     ๘.  เป็นการฝึกฝนอบรมจิตให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น
                                     ๙.  เป็นการรักษาประเพณีอันดีงามของพระอริยเจ้าไว้
                                    ๑๐. ได้ดำเนินตามปฏิปทาอันเป็นวงศ์ของนักปราชญ์

                                     
                                                   ....................................



                                                         เราจะไม่ประมาท

                                       ผู้มีปัญญาดี   เมื่อชนทั้งหลายประมาทแล้ว
                                     
                                      ไม่ประมาท    เมื่อชนทั้งหลายหลับแล้ว  ตื่นอยู่
                                      
                                      โดยมาก   ย่อมละบุคคลผู้มีปัญญาทรามไปเสีย
                                      
                                      ดุจม้าตัวมีฝีเท้าเร็ว   ละทิ้งตัวหากำลังมิได้ไปฉะนั้น


                                                   ...................................


                                                       ขออนุโมทนาบุญค่ะ




วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อกเขา อกเรา


 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนารามของอนาถบิณฑิกคฤหบดี ใกล้กรุงสาวัตถี สมัยนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จสู่ชั้นบนปราสาทอันประเสริฐกับพระนางมัลลิกาเทวี  พระองค์ตรัสถามพระนางมัลลิกาเทวีว่า "ดูก่อน มัลลิกา ! ใคร ๆ คนอื่นที่เป็นที่รักยิ่งกว่าตนของเธอเองมีหรือไม่" พระนางมัลลิกากราบทูลว่า "ข้าแต่มหาราช ! ใคร ๆ คนอื่นที่เป็นที่รักยิ่งกว่าตนของหม่อมฉันไม่มี ก็ใคร ๆ  คนอื่นที่เป็นที่รักยิ่งกว่าตนของพระองค์เองมีหรือไม่" พระเจ้าปเสนธิโกศลตรัสตอบว่า "ดูก่อนมัลลิกา ! ใคร ๆ คนอื่นอันเป็นที่รักยิ่งกว่าตัวของเราเองไม่มี"

ขณะนั้น  พระเจ้าปเสนธิโกศลเสด็จลงปราสาท เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูล ข้อตอบโต้ของพระองค์กับพระนางมัลลิกาเทวี ให้ทรงทราบ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า
                
           "บุคคลตรวจดูด้วยจิตทั่วทุกทิศแล้ว ไม่พบใคร ซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนเองในที่ไหน ๆ
               ตนเองเป็นที่รักยิ่ง ของคนทั้งหลายอย่างนี้ ผู้รักตน จึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น"

                                          
                                                 ...................................

                                     
                                          อนุโมทนาในกุศลจิตกับทุกท่านค่ะ