Translate

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

รูปทั้งหมดไม่ใช่กรรม


ขอนอบน้อมแด่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรมหรือสภาพธรรมที่เป็นกรรม  ได้แก่ เจตนาเจตสิก เป็นปรมัตถธรรมที่เกิดกับจิตทุกดวง....เพราะเหตุใดรูปจึงไม่ใช่กรรม  เพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้  เช่น จักขุปสาทรูปไม่เห็นอะไร  โสตปสาทรูปไม่ได้ยินอะไร  ฆานปสาทรูปไม่ได้กลิ่นอะไร  ชิวหาปสาทรูปไม่ลิ้มรสอะไร  กายปสาทรูปไม่รู้กระทบสัมผัสอะไรเลย  เพราะว่ารูปชนิดหนึ่ง ๆ สามารถกระทบเฉพาะสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น  ส่วนสภาพธรรมที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏนั้น เป็นนามธรรม  คือ จิตและเจตสิกเกิดขึ้นรู้รูป  เสียง กลิ่น รส  เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวที่กำลังปรากฏ

จิตปรมัตถ์ไม่เป็นกรรม....จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ต่าง ๆ  ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ....จิตเป็นสังขารธรรม  (สังขารธรรม คือ ธรรมที่เกิดขึ้น เพราะมีเหตุปัจจัย ได้แก่ จิต เจตสิก รูป)  ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมเกิดร่วมด้วย แล้วแต่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด ก็จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับจิตประเภทนั้น  จิตเป็นเพียงเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้  เป็นธาตุรู้ในขณะที่เห็น  ขณะที่ได้ยิน  ขณะที่ได้กลิ่น  ขณะที่ลิ้มรส  ขณะที่กระทบสัมผัส  ขณะที่คิดนึก.....เวลาที่รู้สึกเป็นสุข  เป็นทุกข์ หรือเฉย ๆ  ไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิกประเภทหนึ่งซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง คือ เวทนาเจตสิก  และขณะที่เห็นแล้วจำได้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร  สภาพที่จำนั้นก็ไม่ใช่จิต  แต่เป็นสัญญาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง  เพราะฉะนั้นจิตไม่ใช่กรรม

จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ไม่ใช่ตัวกรรม ไม่ใช่สภาพธรรมที่กระทำกรรม  แต่มีเจตสิกธรรมดวงหนึ่งในเจตสิก ๕๒ ดวง ซึ่งได้แก่ เจตนาเจตสิกเป็นกรรม  เพราะเหตุว่าเจตนาเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะจงใจ ตั้งใจ ขวนขวายหรือมุ่งหวัง คือ จัดสรรให้ธรรมที่สัมปยุตต์กับตนเป็นไปในอารมณ์ หรือถึงความขนขวายในการปรุงแต่งสิ่งที่เป็นสังขตธรรม (สังขตธรรม หมายถึง สภาพธรรมอันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘)

ไม่ว่าจะคิดนึก จงใจ ตั้งใจที่จะกระทำอะไรก็ตาม  ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางวาจา  ขณะนั้นให้ทราบว่า
เป็นสภาพของเจตนาเจตสิกที่จงใจ ตั้งใจหรือขนขวายในการปรุงแต่งสิ่งที่เป็นสังขตะ.....เจตนาเจตสิกเป็นสังขารขันธ์ เป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งยิ่งกว่าสังขารขันธ์อื่น....เจตนาเจตสิกเป็น
กัมมปัจจัย  เป็นสภาพลักษณะที่จงใจเป็นลักษณะ ซึ่งมีข้อความอุปมาว่า เหมือนกับลูกมือผู้เป็นหัวหน้าหรือเป็นนายช่างไม้ใหญ่  ย่อมยังกิจของตนและกิจของคนอื่นให้สำเร็จ


                                                       .........................................................

                                                         
                                                          ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์