Translate

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

กิเลสที่ละได้ยาก


ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กิเลสมีหลากหลายประเภทและหลายระดับ  ในบรรดากิเลสทั้งหลาย  กิเลสที่สละได้ยากก็คือ ความเห็นผิด  ความไม่รู้  จึงยึดถือสภาพธรรมะว่าเป็นเรา เพราะไม่รู้จริง ๆ  ไม่ว่าจะบอกว่า  ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นได้  ก็ผ่านไป แม้ว่าจะปรากฏซ้ำ ๆ อยู่ทุกวัน  เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้  เพียงแค่นี้เริ่มคิดหรือยัง ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็ดับไป  ค่อย ๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นเพียงชั่วคราวแค่ไหน เป็นเพียงปรากฏที่แสนสั้น  เพราะฉะนั้นควรใช้คำว่า เพียงปรากฏแล้วก็หมดไป  ไม่กลับมาอีกเลย

เพราะฉะนั้น  เราอยู่ในโลกของความติดข้องในสิ่งที่ไม่เหลือและไม่มี  แต่ยังเก็บไว้ ยังจำไว้ ยังติดข้องอยู่ในสิ่งที่ไม่เหลือ  กว่าจะละคลายความติดข้องได้  ก็ต้องเป็นปัญญาที่เริ่มรู้ความจริงทีละเล็กทีละน้อยและก็ไม่ใช่แสวงหาพรหมจรรย์ด้วย  แต่ต้องอบรมอริยมรรค ซึ่งหมายความถึงความเห็นถูก คือปัญญาที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ  เพราะว่าปัญญาประจักษ์ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้

ขณะนั้มีเห็นไม่มีอย่างอื่นเลย  และมีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นได้เท่านั้นเอง  เรียกว่ามีสภาพธรรม  ๒ อย่าง  เพราะฉะนั้น การที่จะละความเป็นเราได้  ถ้าไม่รู้ว่าขณะนี้มีแต่เห็นกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ขณะหนึ่ง  อีกขณะหนึ่งก็มีแต่ได้ยินกับเสียง ไม่มีเห็น ไม่มีอ่อน ไม่มีแข็ง ไม่มีคิดนึกเลย  ถ้าจะรู้ได้ว่าแต่ละขณะก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏชั่วคราว ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เพราะว่าเกิดแล้วดับ และไม่คำนึงถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เพราะเหตุว่ากำลังเริ่มเข้าใจตามความเป็นจริงของสิ่งที่กำลังเกิดดับหมดจริง ๆ ในขณะนั้น  ก็จะเห็นได้ว่า ไม่มีเรา ไม่มีตัวตน ไม่มีเขา ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสิ่งที่ปรากฏ

 ทางตาขณะนี้ มีสิ่งที่กำลังปรากฏเพียงเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้  เข้าใจแต่ละอย่างก่อน  ส่วนการที่จะรู้เป็นสัตว์ บุคคล สิ่งนั้นสิ่งนี้ต้องรู้แน่  แต่ว่าไม่ใช่ขณะที่กำลังเห็น นี่คือการอบรมอริยมรรคมีองค์แปด ไม่ใช่แสวงหาเพราะต้องการที่จะไม่มี  แต่เพราะว่าไม่มีปัญญาหรือความเห็นถูก......  ความเห็นผิดเป็นอกุศลที่หยาบและยังมีอกุศลที่ละเอียดกว่านั้นอีกที่สละได้ยาก  เพราะเหตุว่า ถ้าไม่สละการยึดถึือแล้วก็จะสละอย่างอื่นไม่ได้เลย

มานะความสำคัญตนซึ่งละได้ด้วยอรหัตมรรค  ซึ่งแสดงให้เห็นความละเอียดยิ่งของความสำคัญตน  มองไม่เห็นเลย  โลภะก็ละเอียด ไม่รู้ชื่อก็มี  และความสำคัญตนที่ละเอียดก็มีด้วย  เรารู้แต่ความสำคัญตนอย่างหยาบ ๆ  เวลาที่มีการแสดงทางกาย วาจา บางครั้งก็รู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นความสำคัญตน แต่ความละเอียดของความสำคัญตนก็ต้องมีด้วย .....ความสำคัญตนเป็นธรรมะ แต่ตอนมานะเกิดขึ้น  ก็คิดว่าเป็นเราด้วยมานะ  เพราะฉะนั้นต้องละความเห็นผิดว่ามานะเป็นเราก่อน  จะไปละมานะก่อนไม่ได้ เพราะยังคงเป็นเราอยู่  เพราะฉะนั้นถ้าธรรมะเกิดก็ต้องรู้ด้วย  โลภะเกิดก็ควรรู้ยิ่ง  มานะเกิดก็ควรรู้ยิ่งด้วยว่าเป็นธรรมะ จนกว่าจะหมดความสงสัยและหมดความยึดถือ ว่าเป็นเราก่อนที่จะสละอกุศลอื่น ๆ

ระหว่างความเห็นผิดกับความไม่รู้  อะไรน่ากลัวกว่ากัน.....ความเห็นผิดยังละได้หมด  เพราะเป็นการรู้แจ้งในสัจธรรม เพราะรู้จริง ๆ ว่าเป็นธรรมะและก็เกิดดับด้วย และไม่มีตัวตน  บางคนอาจสงสัยว่าแล้วทำไมยังมีโลภะ โทสะอยู่  ก็เพราะว่ามีปัจจัยที่จะให้เกิด  ก็เกิดให้รู้ว่าเป็นธรรมะ  ไม่ใช่ว่าจะหมดเหตุปัจจัยที่ให้ไม่มีโลภะ เพราะฉะนั้น  การอบรมความรู้ ความเข้าใจถูกในสภาพธรรมะที่ปรากฏ ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าโลภะระดับไหน โทสะระดับไหน อกุศลระดับไหน อาจหาญร่าเริง เพราะเป็นปัญญาที่สามารถเข้าใจได้ว่าขณะนั้นเป็นธรรมะ

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ปัญญาก็จะสามารถรู้สภาพธรรม  ที่กำลังปรากฏได้ตามความเป็นจริงในขณะนั้น  จึงใช้คำว่า ตามรู้บ่อย ๆ  ไม่ได้แยกกันเลย  คือตามรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้นแหละอยู่บ่อย ๆ  ไม่ใช่ตัวเราที่กำลังจะมีสติระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ  นั่นก็ยังเป็นความเป็นเราที่ยังแฝงอยู่ แต่ขณะใดที่กำลังมีการฟัง มีความเข้าใจขึ้น ๆ  เมื่อสภาพธรรมใดกำลังปรากฏ แล้วกำลังรู้เฉพาะลักษณะสภาพธรรมนั้นด้วยความเข้าใจ  ก็จะเห็นความต่างว่า มีสภาพธรรมกำลังปรากฏอยู่ตามปรกติ  แต่ไม่รู้อะไรเลย  กับขณะที่ฟังธรรมเข้าใจและสภาพธรรมก็กำลังปรากฏตามปรกติ  แต่่มีปัจจัยที่จะให้มีความเข้าใจลักษณะสภาพธรรมหนึ่ง  ก็แสดงว่าขณะนั้นสติสัมปชัญญะ หรือจะใช้คำว่า สติปัฏฐาน เกิดก็ได้
เพราะเหตุว่ามีความรู้ถูก  มีความเห็นถูกในความเป็นธรรมะของธรรมะนั้น ๆ  เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นมานะ ก็มีความรู้ถูกว่าเป็นมานะ  แล้วก็ละเสีย  แต่ก่อนอื่นต้องละความยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตนเสียก่อน.

                                                      .........................................................


                                                        ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์