Translate

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

กิเลสที่ละได้ยาก


ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กิเลสมีหลากหลายประเภทและหลายระดับ  ในบรรดากิเลสทั้งหลาย  กิเลสที่สละได้ยากก็คือ ความเห็นผิด  ความไม่รู้  จึงยึดถือสภาพธรรมะว่าเป็นเรา เพราะไม่รู้จริง ๆ  ไม่ว่าจะบอกว่า  ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นได้  ก็ผ่านไป แม้ว่าจะปรากฏซ้ำ ๆ อยู่ทุกวัน  เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้  เพียงแค่นี้เริ่มคิดหรือยัง ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็ดับไป  ค่อย ๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นเพียงชั่วคราวแค่ไหน เป็นเพียงปรากฏที่แสนสั้น  เพราะฉะนั้นควรใช้คำว่า เพียงปรากฏแล้วก็หมดไป  ไม่กลับมาอีกเลย

เพราะฉะนั้น  เราอยู่ในโลกของความติดข้องในสิ่งที่ไม่เหลือและไม่มี  แต่ยังเก็บไว้ ยังจำไว้ ยังติดข้องอยู่ในสิ่งที่ไม่เหลือ  กว่าจะละคลายความติดข้องได้  ก็ต้องเป็นปัญญาที่เริ่มรู้ความจริงทีละเล็กทีละน้อยและก็ไม่ใช่แสวงหาพรหมจรรย์ด้วย  แต่ต้องอบรมอริยมรรค ซึ่งหมายความถึงความเห็นถูก คือปัญญาที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ  เพราะว่าปัญญาประจักษ์ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้

ขณะนั้มีเห็นไม่มีอย่างอื่นเลย  และมีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นได้เท่านั้นเอง  เรียกว่ามีสภาพธรรม  ๒ อย่าง  เพราะฉะนั้น การที่จะละความเป็นเราได้  ถ้าไม่รู้ว่าขณะนี้มีแต่เห็นกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ขณะหนึ่ง  อีกขณะหนึ่งก็มีแต่ได้ยินกับเสียง ไม่มีเห็น ไม่มีอ่อน ไม่มีแข็ง ไม่มีคิดนึกเลย  ถ้าจะรู้ได้ว่าแต่ละขณะก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏชั่วคราว ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เพราะว่าเกิดแล้วดับ และไม่คำนึงถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เพราะเหตุว่ากำลังเริ่มเข้าใจตามความเป็นจริงของสิ่งที่กำลังเกิดดับหมดจริง ๆ ในขณะนั้น  ก็จะเห็นได้ว่า ไม่มีเรา ไม่มีตัวตน ไม่มีเขา ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสิ่งที่ปรากฏ

 ทางตาขณะนี้ มีสิ่งที่กำลังปรากฏเพียงเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้  เข้าใจแต่ละอย่างก่อน  ส่วนการที่จะรู้เป็นสัตว์ บุคคล สิ่งนั้นสิ่งนี้ต้องรู้แน่  แต่ว่าไม่ใช่ขณะที่กำลังเห็น นี่คือการอบรมอริยมรรคมีองค์แปด ไม่ใช่แสวงหาเพราะต้องการที่จะไม่มี  แต่เพราะว่าไม่มีปัญญาหรือความเห็นถูก......  ความเห็นผิดเป็นอกุศลที่หยาบและยังมีอกุศลที่ละเอียดกว่านั้นอีกที่สละได้ยาก  เพราะเหตุว่า ถ้าไม่สละการยึดถึือแล้วก็จะสละอย่างอื่นไม่ได้เลย

มานะความสำคัญตนซึ่งละได้ด้วยอรหัตมรรค  ซึ่งแสดงให้เห็นความละเอียดยิ่งของความสำคัญตน  มองไม่เห็นเลย  โลภะก็ละเอียด ไม่รู้ชื่อก็มี  และความสำคัญตนที่ละเอียดก็มีด้วย  เรารู้แต่ความสำคัญตนอย่างหยาบ ๆ  เวลาที่มีการแสดงทางกาย วาจา บางครั้งก็รู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นความสำคัญตน แต่ความละเอียดของความสำคัญตนก็ต้องมีด้วย .....ความสำคัญตนเป็นธรรมะ แต่ตอนมานะเกิดขึ้น  ก็คิดว่าเป็นเราด้วยมานะ  เพราะฉะนั้นต้องละความเห็นผิดว่ามานะเป็นเราก่อน  จะไปละมานะก่อนไม่ได้ เพราะยังคงเป็นเราอยู่  เพราะฉะนั้นถ้าธรรมะเกิดก็ต้องรู้ด้วย  โลภะเกิดก็ควรรู้ยิ่ง  มานะเกิดก็ควรรู้ยิ่งด้วยว่าเป็นธรรมะ จนกว่าจะหมดความสงสัยและหมดความยึดถือ ว่าเป็นเราก่อนที่จะสละอกุศลอื่น ๆ

ระหว่างความเห็นผิดกับความไม่รู้  อะไรน่ากลัวกว่ากัน.....ความเห็นผิดยังละได้หมด  เพราะเป็นการรู้แจ้งในสัจธรรม เพราะรู้จริง ๆ ว่าเป็นธรรมะและก็เกิดดับด้วย และไม่มีตัวตน  บางคนอาจสงสัยว่าแล้วทำไมยังมีโลภะ โทสะอยู่  ก็เพราะว่ามีปัจจัยที่จะให้เกิด  ก็เกิดให้รู้ว่าเป็นธรรมะ  ไม่ใช่ว่าจะหมดเหตุปัจจัยที่ให้ไม่มีโลภะ เพราะฉะนั้น  การอบรมความรู้ ความเข้าใจถูกในสภาพธรรมะที่ปรากฏ ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าโลภะระดับไหน โทสะระดับไหน อกุศลระดับไหน อาจหาญร่าเริง เพราะเป็นปัญญาที่สามารถเข้าใจได้ว่าขณะนั้นเป็นธรรมะ

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ปัญญาก็จะสามารถรู้สภาพธรรม  ที่กำลังปรากฏได้ตามความเป็นจริงในขณะนั้น  จึงใช้คำว่า ตามรู้บ่อย ๆ  ไม่ได้แยกกันเลย  คือตามรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้นแหละอยู่บ่อย ๆ  ไม่ใช่ตัวเราที่กำลังจะมีสติระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ  นั่นก็ยังเป็นความเป็นเราที่ยังแฝงอยู่ แต่ขณะใดที่กำลังมีการฟัง มีความเข้าใจขึ้น ๆ  เมื่อสภาพธรรมใดกำลังปรากฏ แล้วกำลังรู้เฉพาะลักษณะสภาพธรรมนั้นด้วยความเข้าใจ  ก็จะเห็นความต่างว่า มีสภาพธรรมกำลังปรากฏอยู่ตามปรกติ  แต่ไม่รู้อะไรเลย  กับขณะที่ฟังธรรมเข้าใจและสภาพธรรมก็กำลังปรากฏตามปรกติ  แต่่มีปัจจัยที่จะให้มีความเข้าใจลักษณะสภาพธรรมหนึ่ง  ก็แสดงว่าขณะนั้นสติสัมปชัญญะ หรือจะใช้คำว่า สติปัฏฐาน เกิดก็ได้
เพราะเหตุว่ามีความรู้ถูก  มีความเห็นถูกในความเป็นธรรมะของธรรมะนั้น ๆ  เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นมานะ ก็มีความรู้ถูกว่าเป็นมานะ  แล้วก็ละเสีย  แต่ก่อนอื่นต้องละความยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตนเสียก่อน.

                                                      .........................................................


                                                        ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

จะหลับหรือตื่นไม่พ้นผลของกรรม


 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จะหลับหรือตื่นไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร  เมื่อมีเหตุปัจจัยทำให้หลับ ภวังคจิตก็จะเกิดขึ้นทำกิจ  เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลของกรรมได้เลย  เวลาตื่นขึ้นก็ต้องมีเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง  รู้กระทบสัมผัสทางกายบ้าง  คิดนึกบ้าง  ซึ่งเป็นผลของกรรมทั้งสิ้น

สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา  จิตที่ทำภวังคกิจเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม  จะห้ามไม่ให้หลับไม่ได้เลย  เมื่อเหตุปัจจัยที่จะทำให้หลับ  ภวังคจิตก็เกิดขึ้นทำกิจ...... จิตที่หลับ คือ ภวังคจิต เป็นวิบากจิต  เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย.....ภวังคจิต ทำกิจดำรงภพชาติในขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่กระทบสัมผัส ไม่นึกคิด...... เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ชัดในเรื่องของกรรมและวิบาก ก็จะต้องรู้ด้วยว่า  แม้การหลับและการตื่นก็เป็นผลของกรรม

ขณะทีจิตกำลังทำภวังคกิจ ไม่มีกิเลสใด ๆ เกิดร่วมกับจิตนั้นเลย  เพราะไม่มีอารมณ์ต่าง ๆ มากระทบทางตา  ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ   เมื่อไม่เห็นก็ไม่มีความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา  เมื่อไม่ได้ยินก็ไม่มีความยินดียินร้ายในเสียง  ไม่ได้กลิ่น  ไม่ลิ้มรส ไม่รู้กระทบสัมผัสและไม่คิดนึกก็จะไม่มีความยินดีพอใจเกิดขึ้นเลย....

วันหนึ่ง ๆ หนีไม่พ้นเรื่องผลของกรรมที่จะต้องหลับบ้างตื่นบ้าง และบางครั้งการไม่หลับ ก็ไม่ใช่เพียงเป็นผลของกรรมเท่านั้น  แต่เป็นผลของการสะสมอกุศลก็ได้  เพราะเหตุว่าจิตที่เป็นโลภะเกิดขึ้นนึกคิดเรื่องราวต่าง ๆ ทางใจ  แม้ว่าไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส  ไม่รู้สิ่งกระทบสัมผัส  แต่ขณะที่กำลังคิดนึกเรื่องราวต่าง ๆ ทางใจในขณะนั้น ไม่ใช่ผลของกรรม แต่เป็นกิเลสที่ทำให้ไม่หลับ

ถ้าพิจารณาก็จะเห็นได้ว่า  ชีวิตในแต่ละขณะจิตหนีไม่พ้นกรรมและผลของกรรมเลย


                                                               ..................................................................                                                      


                                                                                               ขออุทิศส่วนกุศลใด้แก่สรรพสัตว์

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

รูปทั้งหมดไม่ใช่กรรม


ขอนอบน้อมแด่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กรรมหรือสภาพธรรมที่เป็นกรรม  ได้แก่ เจตนาเจตสิก เป็นปรมัตถธรรมที่เกิดกับจิตทุกดวง....เพราะเหตุใดรูปจึงไม่ใช่กรรม  เพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้  เช่น จักขุปสาทรูปไม่เห็นอะไร  โสตปสาทรูปไม่ได้ยินอะไร  ฆานปสาทรูปไม่ได้กลิ่นอะไร  ชิวหาปสาทรูปไม่ลิ้มรสอะไร  กายปสาทรูปไม่รู้กระทบสัมผัสอะไรเลย  เพราะว่ารูปชนิดหนึ่ง ๆ สามารถกระทบเฉพาะสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น  ส่วนสภาพธรรมที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏนั้น เป็นนามธรรม  คือ จิตและเจตสิกเกิดขึ้นรู้รูป  เสียง กลิ่น รส  เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวที่กำลังปรากฏ

จิตปรมัตถ์ไม่เป็นกรรม....จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ต่าง ๆ  ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ....จิตเป็นสังขารธรรม  (สังขารธรรม คือ ธรรมที่เกิดขึ้น เพราะมีเหตุปัจจัย ได้แก่ จิต เจตสิก รูป)  ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมเกิดร่วมด้วย แล้วแต่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด ก็จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับจิตประเภทนั้น  จิตเป็นเพียงเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้  เป็นธาตุรู้ในขณะที่เห็น  ขณะที่ได้ยิน  ขณะที่ได้กลิ่น  ขณะที่ลิ้มรส  ขณะที่กระทบสัมผัส  ขณะที่คิดนึก.....เวลาที่รู้สึกเป็นสุข  เป็นทุกข์ หรือเฉย ๆ  ไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิกประเภทหนึ่งซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง คือ เวทนาเจตสิก  และขณะที่เห็นแล้วจำได้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร  สภาพที่จำนั้นก็ไม่ใช่จิต  แต่เป็นสัญญาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง  เพราะฉะนั้นจิตไม่ใช่กรรม

จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ไม่ใช่ตัวกรรม ไม่ใช่สภาพธรรมที่กระทำกรรม  แต่มีเจตสิกธรรมดวงหนึ่งในเจตสิก ๕๒ ดวง ซึ่งได้แก่ เจตนาเจตสิกเป็นกรรม  เพราะเหตุว่าเจตนาเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะจงใจ ตั้งใจ ขวนขวายหรือมุ่งหวัง คือ จัดสรรให้ธรรมที่สัมปยุตต์กับตนเป็นไปในอารมณ์ หรือถึงความขนขวายในการปรุงแต่งสิ่งที่เป็นสังขตธรรม (สังขตธรรม หมายถึง สภาพธรรมอันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘)

ไม่ว่าจะคิดนึก จงใจ ตั้งใจที่จะกระทำอะไรก็ตาม  ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางวาจา  ขณะนั้นให้ทราบว่า
เป็นสภาพของเจตนาเจตสิกที่จงใจ ตั้งใจหรือขนขวายในการปรุงแต่งสิ่งที่เป็นสังขตะ.....เจตนาเจตสิกเป็นสังขารขันธ์ เป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งยิ่งกว่าสังขารขันธ์อื่น....เจตนาเจตสิกเป็น
กัมมปัจจัย  เป็นสภาพลักษณะที่จงใจเป็นลักษณะ ซึ่งมีข้อความอุปมาว่า เหมือนกับลูกมือผู้เป็นหัวหน้าหรือเป็นนายช่างไม้ใหญ่  ย่อมยังกิจของตนและกิจของคนอื่นให้สำเร็จ


                                                       .........................................................

                                                         
                                                          ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์