คำว่า "ภูมิ" มี ๒ ความหมาย
๑. ภูมิ หมายถึง จิตซึ่งเป็นภูมิของสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกัน
๒. ภูมิ หมายถึง "โอกาส" คือ สถานที่เกิดของสัตวโลก
โลกมนุษย์เป็นภูมิ คือ สถานที่เกิดภูมิ๑ ในที่เกิดทั้งหมด ๓๑ ภูมิ
เมื่อจิตต่างกันเป็นประเภท ๆ และแต่ละประเภทก็มีความวิจิตรต่างกันมาก ภูมิซึ่งเป็นที่เกิดของสัตว์โลกก็ต้องต่างกันไป ไม่ใช่มีแต่มนุสสภูมิ คือ โลกนี้โลกเดียว และแม้แต่ว่าจะเป็นกามวจรกุศล กำลังของศรัทธา ปัญญา และสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกทั้งหลายที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นก็วิจิตรต่างกันมาก จึงจำแนกให้ได้รับผล คือ เกิดในสุคติภูมิต่าง ๆ ไม่ใช่แต่ในภูมิมนุษย์เท่านั้น
สำหรับอกุศลกรรมก็เช่นเดียวกัน ขณะที่ทำอกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ถ้าสังเกตจะรู้ความแตกต่างกันของอกุศลกรรม ว่าหนักเบาด้วยอกุศลธรรมเพียงไร บางครั้งก็ประกอบด้วยความพยาบาทมาก บางครั้งก็ไม่ได้ประกอบด้วยความพยาบาทรุนแรง บางครั้งก็ขาดความเพียร ไม่ได้มีวิริยะอุตสาหะที่จะทำร้ายเบียดเบียน แต่เป็นการกระทำซึ่งประกอบด้วยเจตนาเพียงเล็กน้อยและสัตว์เล็ก ๆ นั้นก็ตายลง เมื่อแต่ละกรรมที่ได้กระทำไปนั้น ประกอบด้วยสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกขั้นต่าง ๆ อกุศลกรรมนั้น ๆ ก็เป็นปัจจัยจำแนกให้อกุศลวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิ คือ เกิดในอบายภูมิต่าง ๆ ๔ ภูมิ
เมื่อกุศลกรรมและอกุศลกรรมซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดผลวิจิตรต่าง ๆ กัน ภูมิซึ่งเป็นที่เกิดที่เหมาะที่ควรแก่กรรมนั้น ๆ ก็ย่อมต้องมีมาก ไม่ได้มีแต่เฉพาะมนุสสภูมิแห่งเดียวเท่านั้น
คำว่า "ภูมิ" หมายถึง โอกาสโลกซึ่งเป็นสถานที่เกิดของสัตว์โลกนั้นมีทั้งหมด ๓๑ ภูมิ ตามระดับขั้นของจิต คือ กามภูมิ ๑๑ ภูมิ รูปพรหม ๑๖ ภูมิ อรูปพรหม ๔ ภูมิ รวมโอกาสโลกซึ่งเป็นสถานที่เกิดของสัตวโลกทั้งหมดมี ๓๑ ภูมิ คือ ๓๑ ระดับขั้น ซึ่งสถานที่เกิดแต่ละขั้นนั้นมีมากกว่านั้น คือ แม้แต่ภูมิของมนุษย์ก็ไม่ได้มีแต่โลกนี้โลกเดียว ยังมีโลกมนุษย์อื่น ๆ อีกด้วย
....................................
จาก หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป
จิตตสังเขปและภาคผนวก
โดย อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์